รายการสินค้า
รายละเอียด
ชื่อ : มังคุด
ราคา
: ตามฤดูกาล


ข้อมูลทั่วไป

   มังคุด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia mangostana Linn.) เป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบเขตร้อนชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะซุนดาและหมู่เกาะโมลุกกะ แพร่กระจายพันธุ์ไปสู่หมู่เกาะอินดีสตะวันตกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 แล้วจึงไปสู่ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา เอกวาดอร์ ไปจนถึงฮาวาย ในประเทศไทยมีการปลูกมังคุดมานานแล้วเช่นกัน เพราะมีกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 นอกจากนั้น ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราชยังเคยเป็นที่ตั้งของวังที่มีชื่อว่า "วังสวนมังคุด" ในจดหมายเหตุของราชทูตจากศรีลังกาที่เข้ามาขอพระสงฆ์ไทย ได้กล่าวว่ามังคุดเป็นหนึ่งในผลไม้ที่นำออกมารับรองคณะทูต ส่วนของเนื้อผลที่กินได้ของมังคุดเป็นชั้นเอนโดคาร์ป ซึ่งพัฒนามาจากเปลือกหุ้มเมล็ดเรียกว่า aril มีสีขาว มีกลิ่นหอม สารระเหยได้ส่วนใหญ่คือ hexyl acetate, hexenolและ α-copaene ส่วนล่างสุดของผลที่เป็นแถบสีเข้มที่ติดอยู่เรียงเป็นวงพัฒนามาจากปลายยอดเกสรตัวเมีย (stigma)มีจำนวนเท่ากับจำนวนเมล็ดภายในผล เมล็ดมังคุดเพาะยากและต้องได้รับความชื้นจนกว่าจะงอก เมล็ดมังคุดเกิดจากชั้นนิวเซลลาร์ ไม่ได้มาจากการปฏิสนธิ เมล็ดจะงอกได้ทันทีเมื่อออกจากผลแต่จะตายทันทีที่แห้ง มังคุดมีพันธุ์พื้นเมืองเพียงพันธุ์เดียว แต่ถ้าปลูกต่างบริเวณกันอาจมีความผันแปรไปได้บ้าง ในประเทศไทยจะพบความแตกต่างได้ระหว่างมังคุดในแถบภาคกลางหรือมังคุดเมืองนนท์ ที่ผลเล็ก ขั้วยาว เปลือกบาง กับมังคุดปักษ์ใต้ที่ผลใหญ่กว่า ขั้วผลสั้น เปลือกหนา ปัจจุบันมีการเพาะปลูกและขายบนเกาะบางเกาะในหมู่เกาะฮาวาย ต้นมังคุดต้องปลูกในสภาพอากาศอบอุ่น หากอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 4 °C จะทำให้ต้นมังคุดตายได้


สรรพคุณ

   1. มังคุดมีวิตามินซีที่ช่วยย่นระยะเวลาในการเป็นไข้หวัดให้หายเร็วขึ้น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกาย และลดความเสี่ยงโรคลักปิดลักเปิด (เลือดออกตามไรฟัน)
   2. มังคุดมีวิตามินบีคอมเพล็กซ์ (บี 1 ไนอะซิน) ที่ช่วยในการเผาผลาญพลังงาน และช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
   3. มังคุดมีโฟเลตที่ดีต่อหญิงตั้งครรภ์ เพราะช่วยป้องกันการพิการแต่กำเนิดในทารก ช่วยในการสร้างน้ำนมของมารดาหลังคลอด และยังช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย
   4. มังคุดมีใยอาหารจำนวนมาก ที่ช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย และลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ต่างๆ
   5. งานวิจัยพบว่า สารสกัดจากมังคุดมีฤทธิ์ต้านการลุกลามของมะเร็งลำไส้และมะเร็งต่อมลูกหมาก เปลือกมังคุดก็ยังอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีแซนโทน (Xanthone) จึงมักมีผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากเปลือกมังคุดผสมอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ มังคุดมีสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยต้านการอักเสบ



จำนวนผู้เข้าชม 5626 คน
©2021 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD) All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th