เลื่อนลงล่าง

อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

20/05/59

Tag

Count :

Share

 อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เป็นอุทยานที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะน้ำตกเอราวัณ ที่มีสีฟ้า-เขียวที่สวยงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวได้ด้วยตัวเอง และสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเอราวัณ นำเที่ยวได้

ท่านสามารถรับชมวีดีโอเกียวกับอุทยานแห่งชาติเอราวัณได้ที่นี่ 

ภาพโดย KRISSANA.TH

ธรรมชาติที่สวยงาม

          ถ้ำพระธาตุ เป็นถ้ำมืดขนาดใหญ่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 790 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 12 กิโลเมตร ทางเข้าถ้ำพระธาตุห่างจากทางแยกเข้าเขื่อนศรีนครินทร์มาตามทางเลียบแนวเขื่อนประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ตั้งถ้ำพระธาตุ ปากถ้ำมีขนาดเล็กแต่ตัวถ้ำภายในกว้างใหญ่ ลึกถึง 200 เมตร มีหินงอกหินย้อยเป็นรูปทรงต่างๆ ตามแต่ผู้พบเห็นจะจินตนาการ มีความสวยงามมาก ภายในถ้ำแบ่งเป็น 5 ห้อง ได้แก่ กบจำศีล ท้องฟ้าจำลอง เสาเอก ม่านลิเก และระฆัง อากาศภายในถ้ำโปร่งสบาย

ภาพโดย KANCHANABURI DR.THAPANUN NAHISANUN

          ถ้ำเรือ เริ่มจากซอยสามัคคีธรรม 10 ข้ามคลองตะเคียนไปประมาณ 100-200 เมตร จะมีทางเลี้ยวขวา ซึ่งรถยนต์จะสามารถแล่นเข้าไปได้ประมาณ 200-300 เมตร จากนั้นต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 1 1กิโลเมตร ก็จะถึงถ้ำเรือ ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความลึกประมาณ 40-50 เมตร ไม่มีหินงอกหรือหินย้อย แต่จุดเด่นอยู่ที่มีภาชนะที่ใช้รองน้ำสมัยโบราณวางอยู่ ภาชนะนั้นทำจากไม้ทั้งต้นมาเจาะให้มีลักษณะคล้ายเรือ ส่วนหัวได้ตกแต่งเป็นรูปหัวคน มีตา จมูก และหู 2 ข้าง ซึ่งจะช่วยค้ำไม่ให้พลิกเอียง ปัจจุบันสภาพของภาชนะนั้น แตกหักเหลือที่สมบูรณ์เพียงไม่กี่อัน และมีมูลค้างคาวตกปกคลุมเป็นส่วนใหญ่

          ถ้ำวังบาดาล อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 54 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 63 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ อว. 3 (วังบาดาล) แล้วเดินทางต่อไปอีก 1 กิโลเมตร จะถึงปากถ้ำ ลักษณะของถ้ำวังบาดาล เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ปากทางเข้าเป็นห้องเล็กๆ มีหลายห้อง ห้องชั้นล่างมีน้ำไหลผ่านและมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ด้วย นอกจากนี้แต่ละห้องยังมีความงามของหินงอกหินย้อย เช่น ห้องม่านพระอินทร์ จะมีลักษณะหินย้อยลงมาคล้ายกับม่าน ห้องเข็มนารายณ์ มีลักษณะคล้ายเข็มแท่งใหญ่ซึ่งวิจิตรงดงามมาก

ภาพโดย อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

          ถ้ำหมี เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีอากาศถ่ายเทพอควร จากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า ในอดีตถ้ำนี้เป็นที่อยู่ของหมี ทำให้เรียกกันต่อๆ มาว่า “ ถ้ำหมี ” ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องลดหลั่นเป็นชั้นๆ ได้ 5 ห้อง แต่ละห้องจะปรากฏรูปร่างและสีแปลกตา มีหินงอกหินย้อยตามผนังถ้ำสวยงามพอสมควร สามารถเดินทางจากจังหวัดกาญจนบุรีไปก่อนถึงเขื่อนท่าทุ่งนาประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอไทรโยคจนถึงทางเข้าบ้านทับศิลาบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 10 แล้วเดินทางไปตามทางลูกรังอีก 500 เมตร จะถึงบ้านทับศิลาและเข้าซอยสามัคคีธรรม 10 จนถึงคลองตะเคียน จากจุดนี้เดินเท้าไปตามเส้นทางชักลากไม้เก่าต่อไปอีก 7 กิโลเมตร

 

ภาพโดย อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

         น้ำตกผาลั่น เป็นน้ำตกชั้นเดียวจะมีน้ำเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น 

ภาพโดย อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

          น้ำตกเอราวัณ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมมีชื่อว่า น้ำตกสะด่องม่องลาย ตามชื่อลำห้วยม่องล่ายซึ่งเป็นต้นน้ำของน้ำตกที่เกิดจากยอดเขาตาม่องล่ายในเทือกเขา สลอบ สายน้ำจะไหลมาตามชั้นหินเป็นระยะทางประมาณ 1,500 เมตร แบ่งออกเป็นชั้นใหญ่ๆ ได้ 7 ชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ทั้งเถาวัลย์พันเกี่ยวทอดตัวไปบนต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้ป่าหลายชนิดบนคาคบไม้ สายธารน้ำที่ไหลตกลดหลั่นลงมาบนโขดหินสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง เสียงสาดซ่า คลอเคล้าด้วยเสียงเพรียกของนกป่า ทำให้สภาพความเป็นธรรมชาติสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น นับเป็นบรรยากาศที่เรียกเอาความมีคุณค่าของป่าเขาลำเนาไพรซึมซับเข้าสู่อารมณ์ของผู้ใฝ่ความสันโดษ และรักธรรมชาติโดยแท้จริง ในชั้นที่ 7 อันเป็นชั้นบนสุดของน้ำตก เมื่อมีน้ำตกไหลบ่าจะมีรูปคล้ายหัวช้างเอราวัณ จนคนทั่วไปรู้จักและขนานนามว่า “น้ำตกเอราวัณ”

ภาพโดย KRISSANA.TH

ภาพโดย KRISSANA.TH

 ด้านประวัติศาสตร์

          ถ้ำตาด้วง เริ่มจากจังหวัดกาญจนบุรีไปตามเส้นทางที่จะไปเขื่อนศรีนครินทร์ จนถึงบ้านโป่งปัด แล้วเลี้ยวซ้ายไปยังอำเภอไทรโยคประมาณ 2 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นทางติดกับแม่น้ำแควและสามารถเข้าไปยังด้านหลังเขื่อนท่าทุ่งนาได้ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงเชิงเขาที่มีถ้ำตาด้วง จากนั้นต้องเดินขึ้นเขาซึ่งค่อนข้างชันมากไปอีก 700-800 เมตร มีภาพเขียนอยู่ที่ผนังปากถ้ำเป็นรูปคนและต้นไม้ นอกจากนี้ยังพบเศษเครื่องใช้สมัยโบราณยุคหินใหม่ เช่น เศษถ้วย ไห เป็นต้น

ภาพโดย trapong

ด้านศึกษาธรรมชาติ

          เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหินล้านปี เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหินล้านปี ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินศึกษาประมาณ 3 ชม . ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการนำเดิน ผ่านสังคมป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ จุดสุดท้ายของเส้นทางบรรจบกับน้ำตกชั้นที่ 5

ภาพโดย www.travel.thaiza.com

          เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดิบแล้งม่องไล่ อุทยานแห่งชาติได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างความรู้และได้รับความเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กัน ดูรายละเอียดเส้นทางศึกษาธรรมชาติได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ภาพโดย อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

          เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าไผ่ ตลอดเส้นทางเป็นป่าผลัดใบ ป่าไผ่ และป่าเบญจพรรณ มีป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทาง สำหรับเส้นทางเดินมีความลาดชันต่ำและทางเดินมีลักษณะเป็นลาดยางและคอนกรีต จึงสามารถเดินศึกษาธรรมชาติได้อย่างสะดวก ทางเดินมีขนาดกว้าง 1 เมตร มีระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

ข้อมูลทั่วไป
          สมัย พณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติการประชุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กระทรวงเกษตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน) ดำเนินการจัดตั้งป่าเทือกเขาสลอบท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2504-2515 โดยใช้บริเวณน้ำตกเอราวัณเป็นศูนย์กลางการสำรวจ พบว่า บริเวณป่าเทือกเขาสลอบ จังหวัดกาญจนบุรี มีธรรมชาติที่สวยงามเป็นพิเศษ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตหวงห้ามที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รักษาการณ์ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กรมป่าไม้จึงมีรายงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ขอเพิกถอนพื้นที่เขตหวงห้ามที่ดินบางส่วนที่เป็นป่าเทือกเขาสลอบ เพื่อเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติได้ โดยมีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนที่ดินหวงห้ามดังกล่าวลงประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที 19 มิถุนายน 2518 และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาสลอบ ในท้องที่ตำบลไทรโยค ตำบลท่าเสา ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค ตำบลหนองเป็ด ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ และตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2518 และให้ใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติเอราวัณ" ตามความนิยมและคุ้นเคยของประชาชนที่รู้จักน้ำตกเอราวัณเป็นอย่างดี โดยมีเนื้อที่ประมาณ 549.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 343,735 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 12 ของประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศ
          อุทยานแห่งชาติเอราวัณ มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงชันอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 165-996 เมตร สลับกับพื้นที่ราบ โดยภูเขาส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูน ในแถบตะวันออกและตะวันตกของพื้นที่จะยกตัวสูงขึ้นเป็นแนวโดยเฉพาะบริเวณใกล้น้ำตกเอราวัณจะมีลักษณะเป็นหน้าผา ส่วนบริเวณตอนกลางจะเป็นแนวเขาทอดยาวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยเทือกเขาที่สำคัญคือ เขาหนองพุก เขาปลายดินสอ เขาหมอเฒ่า เขาช่องปูน เขาพุรางริน และเขาเกราะแกระซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดประมาณ 996 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่สำคัญหลายสาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในพื้นที่ด้านตะวันออกนี้จะมีลำห้วยที่สำคัญคือ ห้วยม่องไล่ และห้วยอมตะลา ซึ่งไหลมาบรรจบกันกลายมาเป็นน้ำตกเอราวัณ ทางตอนเหนือของพื้นที่มีห้วยสะแดะและห้วยหนองกบ โดยห้วยสะแดะจะระบายน้ำลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ ส่วนห้วยหนองกบไหลไปรวมกับห้วยไทรโยคก่อให้เกิดน้ำตกไทรโยค ส่วนในพื้นที่ด้านตะวันตก และด้านใต้ ได้แก่ ห้วยทับศิลา ห้วยเขาพังซึ่งเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่สวยงามที่เรียกว่า “น้ำตกเขาพัง” หรือน้ำตกไทรโยคน้อย


 ลักษณะภูมิอากาศ
          สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติเอราวัณแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม และฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุทยานแห่งชาติเอราวัณได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือช่วยพัดพาให้เกิดฝน แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตเงาฝน ทำให้มีปริมาณฝนตกไม่มากนัก และอากาศค่อนข้างร้อน ลักษณะอากาศดังกล่าวจึงไม่เป็นปัญหาต่อการเที่ยวชม ทำให้สามารถไปเที่ยวได้ทุกฤดู

พืชพรรณและสัตว์ป่า
          สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ประกอบด้วย
          ป่าเบญจพรรณ มีร้อยละ 81.05 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ขึ้นปกคลุมตั้งแต่ระดับความสูง 100 - 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะค่าโมง ตะเคียนหนู รกฟ้า ผ่าเสี้ยน ประดู่ ส้มเสี้ยว แต้ว มะกอก ตะแบก ขานาง มะเกลือ หว้า ฯลฯ มีไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปหรือบางแห่งขึ้นเป็นกลุ่ม ได้แก่ ไผ่ป่า ไผ่รวก ไผ่ซางนวล และไผ่หอบ นอกจากนี้ยังมีพวกไม้เลื้อยและพืชพื้นล่าง ได้แก่ เสี้ยวเครือ นมแมว เล็บเหยี่ยว หนามคนทา ช้องแมว มะเม่าไข่ปลา ย่านลิเภา เปล้าหลวง กระทือ สังกรณี และเอื้องหมายนา เป็นต้น 

          ป่าเต็งรัง มีร้อยละ 1.68 กระจายอยู่ในระดับความสูง 100 - 800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทุ่งยายหอม หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ อว.8 (ลำต้น) และบริเวณใกล้เขื่อนทุ่งนา พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง แดง ก่อแพะ มะขามป้อม อ้อยช้าง ยอป่า กรวยป่า โมกหลวง ก้างขี้มอด ส้าน เหมือดคน ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าขน หญ้าหางเสือ เล็บแมว เถาว์กระทงลาย เป้ง ลูกใต้ใบ ผักหวาน ผักเป็ด พลับพลา และปอ เป็นต้น 

         ป่าดิบแล้ง มีร้อยละ 14.35 อยู่บนสันเขาทอดเป็นแนวยาวตรงใจกลางของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และอยู่ต่ำถัดลงมาในระดับความสูงระหว่าง 600-800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และอยู่ในบริเวณที่ชุ่มชื้นตามที่ราบริมห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางโอน มะพลับดง ยมหิน ตะเคียนทอง สำโรง ตะคร้ำ สัตบรรณ เฉียงพร้านางแอ มะดูก พลองใบเล็ก ข่อยหนาม ชมพู่น้ำ ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หวายขมเถากระไดลิง เข็มขาว มะลิไส้ไก่ ว่านเศรษฐี ตำแยกวาง เถาอบเชย ไผ่หนาม และเนียมฤาษี

มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว

สิ่งอำนวยความสะดวก 

         อุทยานแห่งชาติเเอราวัณ เป็นอุทยานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกคอยให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างครบครันไม่ว่าจะเป็น ที่จอดรถ บริการอาหาร ลานกางเต็นท์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย
ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง ที่พักแรม/บ้านพัก และค่ายเยาวชน

รถยนต์

        รถยนต์ส่วนบุคคล ไปตามถนนเพชรเกษมหรือไปตามถนนบรมราชชนนี ผ่านนครชัยศรี บ้านโป่ง ท่ามะกา ท่าม่วง ถึงจังหวัดกาญจนบุรี รวมระยะทาง 129 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง สำหรับการเดินทางจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปยังอุทยานแห่งชาติเอราวัณสามารถใช้ได้ 2 เส้นทาง คือ สายที่ 1 เริ่มต้นจากจังหวัดกาญจนบุรีไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3199 ถึงเขตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนศรีนครินทร์ ข้ามสะพานไปยังตลาดเขื่อนศรีนครินทร์ แล้วจึงเลยเข้าไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 70 กิโลเมตร สายที่ 2 เดินทางจากอุทยานแห่งชาติไทรโยค จะมีเส้นทางบริเวณบ้านวังใหญ่อยู่ห่างจากน้ำตกไทรโยคน้อยประมาณ 6 กิโลเมตร ลัดออกไปบ้านโป่งปัดบริเวณเขื่อนท่าทุ่งนาระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 3199 อีกประมาณ 25 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเอราวัณ 

รถไฟ

        รถไฟ ออกจากสถานีรถไฟบางกอกน้อยวันละ 2 เที่ยว ได้แก่ เวลา 07.50 น. และ 13.45 น. โดยแวะจอดที่สถานีกาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว ท่ากิเลน สถานีน้ำตก ในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ มีรถไฟเที่ยวพิเศษ นำเที่ยวไปกลับภายในวันเดียว ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ สถานีรถไฟกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1285

รถโดยสารประจำทาง

      รถโดยสารธรรมดา/รถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ทุก 15 นาที ตั้งแต่เวลา 04.00-20.30 น. ถึงจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้นเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งกาญจนบุรี หมายเลข 8170 กาญจนบุรี-เอราวัณ ทุก 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.20 น. เพื่อเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที รวมระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร หรือออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ชั้น 1 ช่อง 21 สายกรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งแต่เวลา 05.00-19.00 น. โดยแวะจอดที่สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้นเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสายกาญจนบุรี-เอราวัณ เพื่อเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

1. ทานอาหารให้อิ่มก่อนไปถึงหน้าอุทยาน – ร้านอาหารที่หน้าอุทยานเองก็มีแต่รสชาติและราคาอาจไม่ถูกใจเสียเท่าไหร่ แนะนำว่าควรกินอาหารในตัวเมืองให้เรียยบร้อยก่อนเดินทางไปที่น้ำตก

2. ออกให้เช้าเข้าไว้ – ถึงเช้ากว่าบรรยากาศดีกว่า อากาศสดชื่นกว่า และที่สำคัญอากาศไม่ร้อนด้วย

3. หลีกเลี่ยงการไปเที่ยวน้ำตกเอราวัณในช่วงหน้าฝน – หน้าฝนบางครั้งทางอุทยานจะไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม หากเป็นไปได้ควรเลือกไปเที่ยวหน้าร้อนหน้าหนาวดีกว่า จะได้เข้าชมได้แน่ๆ

น้ำตกเอราวัณ

4. ฟิตร่างกายให้พร้อม – 7 ชั้นของน้ำตกเอราวัณ ระยะทางอาจไม่ไกลมาก แต่ความชันของภูเขาเรียกได้ว่าโหดอยู่ ใครที่ร่างกายไม่แข็งแรงอาจจอดแค่ ชั้น 3 ชั้น 4 ได้

5. หากมานั่งปิคนิคกับครอบครัว หยุดที่ ชั้น 2 ก็พอ – ชั้นสองของน้ำตกเอราวัณมีชื่อว่า วังมัจฉา ชั้นนี้บรรยากาศดี เหมาะกับการนั่งพัก ชมวิวกินลม ถ้าพาพ่อแก่แม่เฒ่ามาด้วย พักอยุ่ที่ชั้นนี้เวิร์คสุดครับ

6. อุทยานจะเชิญให้คนเดินลงตั้งแต่บ่าย 4 โมง – เพื่อความปลอดภัยทางอุทยานจะไล่นักท่องเที่ยวลงจากน้ำตกชั้นบนๆตั้งแต่บ่าย 4 โมง ถ้า 4 โมงตรงเป๋ง ถึงชั้น 6 เราก็จะโดนไล่หลับไม่ให้ไปถึงชั้น 7

7. จากข้อ 6 เราควรเริ่มเดินขึ้นตั้งแต่ 13.00-14.00 น. – อย่าประมาทว่าระยะทางไม่ไกล ความชันจะทำให้เราเหนื่อยและต้องพักบ่อย ไหนจะยังต้องเอาเวลามาถ่ายรูปอีก ถ้าเป็นได้บ่ายโมงก็ควรสตาร์ทได้แล้ว แต่ถ้ามั่นใจในความไว บ่าย 2 ก็ยังทันอยู่นะ

8. เตรียมตัวรับการปีนป่าย – หลังจากชั้น 4 ไป เราจะเปชิญกับน้ำตกแท้ๆ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ ควรแต่งตัวให้ทะมัดทะแมงที่สุด เพื่อความสะดวกในการไต่หิน และ ขอนไม้

9. พกอาหารรองท้องติดรถไว้ – หลังจากเราเที่ยวเสร็จ 7 ชั้น ลงรถมา เราจะเหนื่อยและหิวโฮก การมีช๊อกโกแลตบาร์ติดรถไว้จะช่วยบรรเทาความหิวและพลังงานที่เสียไปได้เยอะ เพราะถว่าเราจะกลับถึงตัวเมืองมันกินเวลาโขอยู่ อาจหมดแรงเป็นลมกันได้

10. ขับรถกลับบ้านก่อนมืด – อย่าอยู่บนเขานานเพราะยิ่งดึกทางยิ่งเปลี่ยวและอันตราย ยิ่งไม่ชำนาญทางยิ่งควรกลับในขณะที่ฟ้ายังสว่างอยู่จะดีที่สุดครับ

อุทยานแห่งชาติเอราวัณ
หมู่ที่ 4 ต.ท่ากระดาน  อ. ศรีสวัสดิ์  จ. กาญจนบุรี   71250
โทรศัพท์ 0 3457 4222  โทรสาร 0 3457 4288  อีเมล erawan_2518@hotmail.co.th

แผนที่

บทวิจารณ์

Login For Reviews

แสดงความคิดเห็น

หัวข้อ
อ่านรีวิวโดย
วันที่
Tag
Browse Icon ขนาดภาพ 250 x 250 px

Tag

Count :