เลื่อนลงล่าง

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

20/05/59

Tag

Count :

Share

  อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นอกจากจะเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ ได้แก่ ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งดูนก ดูผีเสื้อ และสัตว์ป่านานาชนิด จึงมีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ
          ดังนั้นในช่วงฤดูฝน การท่องเที่ยวและพักแรมในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่สะดวกในการเดินทางไปท่องเที่ยว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสูง และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว จึงมีกำหนดปิดการท่องเที่ยวและพักแรม เฉพาะบริเวณบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว

ท่านสามารถรับชมวีดีโอเกียวกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ที่นี่ 

ภาพโดย www.topicstock.pantip.com

ด้านธรรมชาติสวยงาม

         การดูนก จุดที่น่าสนใจสำหรับการดูนกส่วนใหญ่อยู่ตามเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง บริเวณกิโลเมตรที่ 15 มีนกพญาปากกว้าง นกบั้งรอก นกหัวขวาน นกแต้วแล้ว และนกเงือกหลายชนิด ช่วงกิโลเมตรที่ 26 - 29 มีนกเสือแมลงหัวขาว นกกะรางหัวหงอก โดยเฉพาะนกกะลิงเขียดหางหนาม ซึ่งมักหากินรวมฝูงอยู่กับนกระวังไพรปากแดงสั้น จากบริเวณนี้เป็นต้นไป สามารถพบนกทางภาคเหนือ เช่น นกปรอดหัวตาขาว นกเสือแมลงปีกแดง นกกะลิงเขียดสีเทา ฯลฯ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูนก คือ ตั้งแต่เวลา 07.00 - 10.00 น. และ 15.00 - 17.00 น.

ภาพโดย TAMRON 150-600

         การดูผีเสื้อ จุดที่น่าสนใจสำหรับการดูผีเสื้ออยู่บนเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง โดยเริ่มตั้งแต่กิโลเมตร ที่ 10 เป็นต้นไป จะพบผีเสื้อตามสองข้างทาง บริเวณแอ่งน้ำมีผีเสื้อหนอนจำปีจุดแยก ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อวาวสีต่างฤดู ตามพุ่มไม้มีผีเสื้อกะลาสีธรรมดา ผีเสื้อสีตาลจุดตาห้า ผีเสื้อช่างร่อน ตามกองมูลสัตว์มีผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา ผีเสื้อตาลหนามใหญ่ จากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ. 4 (บ้านกร่าง) อาจพบผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียวซึ่งเป็นผีเสื้อหายากชนิดหนึ่ง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูผีเสื้อ คือ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 14.00 น.

ภาพโดย www.facebook.com/chanomworld

       เขาพะเนินทุ่ง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 50 กิโลเมตร เป็นเขาที่สูงประมาณ 1,207 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงมีความหนาวเย็นตลอดปี บนยอดเขาปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าและไม้ต้นเล็กๆ ประกอบด้วยทิวทัศน์ที่งดงามทั้งยามปกติ และยามมีทะเลหมอกในช่วงปลายฤดูฝนและต้นฤดูฝนหนาวที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง การเดินเท้าขึ้นยอดเขาพะเนินทุ่งมี 2 เส้นทาง เส้นทางแรกเริ่มจาก กม. ที่ 27.5 ของเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง โดยเดินข้ามลำธารหลายสายก่อนขึ้นถึงยอดเขา ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง อีกเส้นทางหนึ่งเริ่มจากบริเวณ กม. ที่ 30 ของเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง แต่ต้องข้ามเนินเขาหลายลูก ผู้สนใจต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง
        เนื่องจากเส้นทางบ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่ง เป็นเส้นทางที่ลาดชัน บางช่วงแคบ ผ่านหน้าผา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงกำหนดเวลาขึ้น-ลงสำหรับรถยนต์ที่ใช้เส้นทางนี้ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ดังนี้
        นักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบไป-กลับ ไม่พักค้างแรม กำหนดให้เดินทางดังนี้

       เวลาขึ้นจากบ้านกร่าง 05.30 น. -07.30 น.

       เวลาลงจากเขาพะเนินทุ่ง 09.00 น. -10.00 น. และ 16.00 น.-17.00 น.

       นักท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อพักค้างแรมที่เขาพะเนินทุ่ง กำหนดให้เดินทางดังนี้

      เวลาขึ้นจากบ้านกร่าง 13.00 น. -15.00 น.

      เวลาลงจากเขาพะเนินทุ่ง 09.00 น. -10.00 น. และ 16.00 น.-17.00 น.
      ซึ่งในช่วงฤดูฝน การท่องเที่ยวและพักแรมบริเวณบ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่ง ไม่สะดวกอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว และก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสูง จึงมีกำหนดปิดการท่องเที่ยวและพักแรม เฉพาะบริเวณบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว

ภาพโดย www.facebook.com/HnaklomOface

        จุดชมทะเลหมอก กม.36 สามารถชมทะเลหมอกได้เกือบตลอดปี จุดชมวิวนี้อยู่บริเวณ กม.ที่ 36 ของเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง ก่อนถึงทางลงสู่น้ำตกทอทิพย์ ในยามเช้าจะมองเห็นทะเลหมอกสีขาวปกคลุมทั่วหุบเขา เมื่อทะเลหมอกสลายตัวไปแล้วจะมองเห็นผืนป่าดงดิบเบื้องล่างเบียดตัวกันแน่นท่ามกลางเทือกเขาสลับซับซ้อนกว้างไกลสุดตา บางครั้งอาจพบนกกกและนกเงือกกรามช้างบินอยู่เหนือผืนป่า การเดินทางขึ้นสู่จุดชมทะเลหมอกใช้เส้นทางขึ้นเขาที่มีกำหนดเวลาแน่นอนในการขับรถยนต์ขึ้นเขาและลงเขา ต้องกางเต็นท์พักแรมที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (พะเนินทุ่ง) บริเวณ กม.30 เพื่อตื่นขึ้นมาชมทะเลหมอกในยามเช้า

ภาพโดย http://pantip.com/topic/34582338

          ชมความงามริมทางสายวังวน-น้ำตกทอทิพย์ เป็นเส้นทางเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติประมาณ 34.5 กิโลเมตร ระหว่างทางสามารถชมทิวทัศน์ได้ตลอดสายเห็นภูเขา ทะเลหมอก ป่าเขียวขจี และพบเห็นสัตว์นานาชนิด 

         ถ้ำค้างคาว ถ้ำค้างคาว มีหลืบหินและปล่องถ้ำสวยงามระหว่างการเดินทางเข้าถ้ำ สามารถชมทิวทัศน์ของป่าและภูเขาได้ 

         ถ้ำวิมาน มีหินงอกหินย้อยสวยงาม อากาศเย็นสบาย ภายในถ้ำพบร่องรอยของมนุษย์โบราณ เช่น เศษกระเบื้อง และขวานหินใกล้ถ้ำ บริเวณใกล้ถ้ำมีน้ำตกห้วยปลาก้าง มีความสูง 3 ชั้น 

          ถ้ำหัวช้าง อยู่ตรงบริเวณเทือกเขาสามยอด และบริเวณถ้ำวิมาน มีหินงอก หินย้อย ซึ่งธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้อย่างสวยงามยิ่ง ภายในถ้ำยังมีหลักฐานและร่องรอยของมนุษย์โบราณ 

ภาพโดย  noiwanwannoi

        น้ำตกกระดังลา อยู่ทางตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ท้องที่หมู่ 3 ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีความสูง 3 ชั้น

ภาพโดย http://www.weekendhobby.com/

        น้ำตกชลนาฎ มีความสูง 3 ชั้น เป็นน้ำตกที่มีผาน้ำตกสูงที่สุดของน้ำตกในเขตอุทยานห่งชาติแก่งกระจาน สูงประมาณ 150-200 เมตร อยู่ใกล้เคียงกับน้ำตกป่าละอู ในท้องที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

       น้ำตกทอทิพย์ อยู่ห่างจากยอดเขาพะเนินทุ่งประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งสามารถจะเดินทางไปชมโดยทางรถยนต์ จุดเริ่มต้นของทางลงเขาสู่น้ำตกทอทิพย์อยู่บริเวณ กม. 36 สุดทางของเส้นทางสายวังวน-พะเนินทุ่ง เป็นทางดิ่งลงเขาตลอดระยะทาง 4 กิโลเมตร ตัวน้ำตกมีถึง 9 ชั้น สายน้ำไหลลดหลั่นลงมาเป็นทางยาวตามความชันของพื้นที่ สามารถเดินเลาะข้างน้ำตกลงมาจนครบทุกชั้น ปลายทางของสายน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณริมแม่น้ำเป็นจุดกางเต็นท์พักแรมที่เรียกว่า เคยู แค็มป์

ภาพโดย pekky182

        น้ำตกธารทิพย์ มีความสูง 7 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปีอยู่ใกล้กับน้ำตกทอทิพย์และน้ำตกหินลาด 

       น้ำตกป่าละอู  เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีความสูง 15 ชั้น ไหลลดหลั่นลงมาเป็นทางยาว ชั้นที่ 1-3 เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ เนื่องจากน้ำตกชั้นที่สูงขึ้นไปต้องปีนป่ายไปตามโขดหินสูงชัน น้ำตกชั้นที่สวยที่สุดคือ น้ำตกชั้นที่ 7 มีแอ่งน้ำใหญ่อยู่ท่ามกลางป่าร่มครึ้ม น้ำตกป่าละอูอยู่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในท้องที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากหัวหินประมาณ 60 กิโลเมตร ใกล้หน่วยพิทักษอุทยานแห่งชาติที่ กจ.3 (ห้วยป่าเลา) บริเวณนี้ทางอุทยานแห่งชาติจัดให้มีพื้นที่กางเต็นท์ บ้านพัก และค่ายพักแรม โทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08 7161 2922  08 7161 2922 FREE  

ภาพโดย Khunbob

        น้ำตกแม่สะเลียงหรือน้ำตกเสลียง มีความสูง 3 ชั้น น้ำไหลตลอดปี อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 34 กิโลเมตร ถึงทางแยกตรง กม. 27 แล้วเดินทางไปทางทิศตะวันตกอีก 5 กิโลเมตร เหมาะแก่การท่องเที่ยวแบบแคมป์ปิ้งและเดินป่า 

      น้ำตกห้วยป่าเลา มีทั้งหมด 7 ชั้น อยู่ใกล้เคียงกับน้ำตกป่าละอู อยู่ในท้องที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สองข้างเป็นป่าดงดิบที่สมบูรณ์ ตลอดเส้นทางมีพืชพันธุ์ที่แปลกตา

      น้ำตกหัวป่าเงา อยู่ทางด้านใต้ของพื้นที่มีน้ำตกใหญ่น้อยมากมาย รวมเป็นกลุ่มได้ถึง 4 กลุ่ม มีเส้นทางเข้าถึงสะดวก อยู่ในท้องที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตติดต่อกับโครงการพระราชดำริห้วยสัตว์ใหญ่ 

ภาพโดย http://www.dnp.go.th/

       น้ำตกหินลาด มีความสูง 5 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปีอยู่ใกล้กับน้ำตกทอทิพย์และน้ำตกธารทิพย์ 

        ผาน้ำหยด เป็นหน้าผาอยู่ริมลำน้ำเพชรบุรีกลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ท่องเที่ยวโดยการล่องแก่งแม่น้ำเพชรบุรี มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน มีน้ำไหลหยดลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีอยู่ตลอดเวลา ในฤดูฝน น้ำจะหยดเป็นสาย ก่อให้เกิดแผงมอสคลุมเขียวไปทั้งหน้าผา

        ลานหนุมานหรือเขาประการัง ลักษณะของภูเขาเป็นหินที่มีรูปร่างลักษณะแปลกตาคล้ายประการัง บริเวณนี้มีลิง ค่าง และชะนี เป็นจำนวนมาก และยังเป็นสถานที่ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง

      อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน มีเนื้อที่ประมาณ 46.5 ตารางกิโลเมตร เกิดจากการสร้างเขื่อนดินปิด 3 ช่องทางระหว่างหุบเขา ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมแก่งน้ำเดิม เป็นพื้นน้ำอาณาเขตกว้างขวางจากยอดเขาเนินเขาหลากเป็นเกาะโผล่พ้นน้ำถึง 30-40 เกาะ ก่อให้เกิดทิวทัศน์งดงามยิ่งเหมาะสำหรับการนั่งเรือชมทัศนียภาพและชมพระอาทิตย์ตกยามเย็นที่สันเขาตะนาวศรี 

ภาพโดย 3KKK 

ประวัติ
       เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จที่เขื่อนแก่งกระจาน ได้รับสั่งให้นายถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า “เรื่องป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้ เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น” จากพระราชดำรัสดังกล่าวประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

       กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 452/2523 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2523 ให้นายสามารถ ม่วงไหมทอง นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแม่น้ำเพชรบุรีเหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานการสำรวจ ด่วนที่สุด ที่ กส 0708/จช. 67 ลงวันที่ 15 เมษายน 2523 รายงานว่า บริเวณป่าดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม ประกอบด้วยน้ำตก ถ้ำ หน้าผา ทะเลสาบ พันธุ์ไม้มีค่านานาชนิด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าต่างๆ เช่น เลียงผา วัวแดง กระทิง นก ปลาต่างๆ และช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาความรู้ด้านต่างๆ ทั้งเป็นการรักษาสภาพป่าให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติถาวรสืบไปดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณพื้นที่ป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ในท้องที่ตำบลน้ำกลัดเหนือ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุมเนื้อที่ 1,548,750 ไร่ หรือ 2,478 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 92 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 28 ของประเทศ

      ต่อมาคณะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2525 ถึงนายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้อนุรักษ์ป่าห้วยแร่ห้วยไคร้ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย กรมป่าไม้ จึงให้ นายสามารถ ม่วงไหมทอง ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายรุ่งโรจน์ อังกุรทิพากร เจ้าพนักงานป่าไม้ 2 สำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ปรากฏว่า ในบริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์ดี มีทิวทัศน์สวยงาม มีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา ลานหิน และมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0713(กจ) /78 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2526 เห็นควรให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกไปครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว

     กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ต่อมาได้มีมติการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 ให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลแก่งกระจาน ตำบลสองพี่น้อง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมเนื้อที่ 273,125 ไร่ หรือ 437.00 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 194 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2527 รวมเนื้อที่ 1,821,875 ไร่ หรือ 2,915 ตารางกิโลเมตร

     ต่อมากองบัญชาการทหารสูงสุด และจังหวัดเพชรบุรี ได้ขอเพิกถอนพื้นที่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เพรียง เนื้อที่ 28 ไร่ 2 งาน และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง เนื้อที่ 158 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ บางส่วนในท้องที่ตำบลห้วยแม่เพรียง และตำบลป่าเต็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 187.16 ไร่ หรือ 0.30 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 64 ก ลงวันที่ 24 กันยายน 2541 ทำให้ในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคงเหลือพื้นที่ 1,821,687.84 ไร่ หรือ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ
     ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นดินและส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่เป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ยอดสูงสุดได้แก่ เขางะงันนิกยวกตอง สูงประมาณ 1,513 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 500 เมตร ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินแกรนิต บางแห่งเป็นเขาหินปูน ในหลายแห่งอุดมไปด้วยแร่ฟลูออไรน์ ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี ลำห้วยสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้แก่ ห้วยแม่ประโดน ห้วยบางกลอย ห้วยแม่เสลียง ห้วยหินเพิง ห้วยสาริกา ห้วยผาก ห้วยไผ่ และห้วยสามเขา ลำห้วยที่สำคัญของแม่น้ำปราณบุรีในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ห้วยคมกฤช ห้วยโสก แม่น้ำสัตว์ใหญ่ ห้วยป่าแดง และห้วยป่าเลา

ลักษณะภูมิอากาศ
       สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น จึงทำให้มีความชื้นสูง ส่วนใหญ่จะมีฝนตกชุก จึงมีอากาศเย็นสบายตลอดปี ไม่ร้อนอบอ้าว ปริมาณน้ำฝนรวมรายปีระหว่าง 986-1,140 มิลลิเมตร ซึ่งในช่วงฤดูฝน การท่องเที่ยวและพักแรมในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่สะดวกในการเดินทางไปท่องเที่ยว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสูง และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว จึงมีกำหนดปิดการท่องเที่ยวและพักแรม เฉพาะบริเวณบ้านกร่างและเขาพะเนินทุ่ง ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีโอกาสฟื้นตัว รวมทั้งให้สัตว์ป่าได้อยู่อาศัยปราศจากการรบกวนจากนักท่องเที่ยว

พรรณไม้และสัตว์ป่า
     อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีความโดดเด่น เป็นจุด ศูนย์รวมสภาพผืนป่าหลายแบบในบริเวณเดียวกัน คือ ผืนป่าภาคเหนือ ผืนป่าภาคตะวันออก และผืนป่า ภาคใต้ พันธุ์ไม้หายาก เช่น จำปีเพชร Magnolia mediocris (Dandy) Figlar โมลีสยาม Reevesia pubescens Mast. var. siamensis (Craib) Anthony แตงพะเนินทุ่ง และพบ กล้วยไม้รองเท้านารีสายพันธุ์ต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งการค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่พบครั้งแรกในโลกอยู่บ่อยครั้ง

     นอกเหนือไปจากนี้ยังได้มีการสำรวจพบจระเข้น้ำจืด Crocodylus Siamensis ที่ยังมีชีวิตและมีการขยายพันธุ์เพิ่มประชากร อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งค้นพบและบันทึกภาพได้โดย แอล. บรู๊ซ แคคูลี นักถ่ายภาพชาวอเมริกัน หลังจากนั้นทางอุทยานจึงได้ปิดการล่องแพบริเวณต้นน้ำดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะไปรบกวนการขยายพันธุ์ของจระเข้ [9] แมวดาว Prionailurus bengalensis หนึ่งในแมวป่าและเสืออย่างน้อย ๖ ชนิดที่มีรายงานการพบในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กระโถนพระราม (Sapria ram Banziger & B. Hansen) สามร้อยต่อใหญ่ Vanilla pilifera Holtum สมเสร็จ Tapirus indicus สัตว์ป่าหายาก มีเอกลักษณ์ตรงลำตัวสีขาวสลับดำ ปลายหูสีขาว จมูกยาวที่เคลื่อนไหวได้ ยังคงพบกระจายอยู่ในหลายบริเวณของป่าแก่งกระจาน พบมากบนสันเขาในที่สูง นกเค้าหน้าผากขาว Otus sagittatus

บริการอาหาร - ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

      มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยวบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

สิ่งอำนวยความสะดวก 

         อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกคอยให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างครบครันไม่ว่าจะเป็น ที่จอดรถ ที่พักแรม/บ้านพัก บริการอาหาร ลานกางเต็นท์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง
ห้องอาบน้ำที่ทำการอุทยาน มีค่ายเยาวชนให้บริการ ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย และห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง

 

โดยรถยนต์

      จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถึงอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านแยกเข้าตัวเมืองเพชรบุรี จะถึงสี่แยกท่ายาง เลี้ยวขวาเข้าอำเภอท่ายาง จากนั้นวิ่งไปตามถนนเลียบคลองชลประทาน ตามทางหลวงหมายเลข 3499 ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงอำเภอแก่งกระจาน จากปากทางเข้าอุทยานฯ อีก 4 กิโลเมตรจะถึงที่ทำการอุทยานฯ

โดยรถประจำทาง

       มีรถสายกรุงเทพฯ-ท่ายาง ลงที่ตลาดท่ายาง จากนั้นต่อรถสองแถวไปตลาดแก่งกระจาน และต่อรถรับจ้างหรือจักรยานยนต์ไปอีก 4 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ

โดยทางอื่น

รถตู้โดยสารประจำทาง
      ปิยะ ๖๖๖ ขึ้นจากกรุงเทพฯ ขึ้นรถบริเวณหน้าห้าง Century ซอยรางน้ำ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอแก่งกระจาน จากนั้นต่อรถไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ขึ้นจากกรุงเทพฯ ติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 4464 6536
ขึ้นจากเพชรบุรีติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 9231 5810
ขึ้นจากแก่งกระจานติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 6308 0174

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ต.แก่งกระจาน  อ. แก่งกระจาน  จ. เพชรบุรี   76170
Tel. 032-459-293 , 032-467-326 , 086-166-2991  Fax. 032-459-291

แผนที่

บทวิจารณ์

Login For Reviews

แสดงความคิดเห็น

หัวข้อ
อ่านรีวิวโดย
วันที่
Tag
Browse Icon ขนาดภาพ 250 x 250 px

Tag

Count :