เลื่อนลงล่าง

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

14/05/59

Share

ข้อมูลทั่วไป

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก แอ่งน้ำอุ่น บ่อน้ำพุร้อน ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าใต้พื้นโลกเรายังมีความร้อนระอุอยู่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 480,000 ไร่ หรือ 768 ตารางกิโลเมตร

ป่าไม้เขตลำปางได้มีหนังสือ ที่ กษ 0709 (ลป)/4181 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2524 เรื่อง ขอกำหนดพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 1648/2524 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2524 ให้นายนฤทธิ์ ตันสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำการสำรวจ สรุปได้ว่าสภาพป่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นทางธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง มีน้ำตกและน้ำพุร้อนไหลตลอดปี เหมาะสำหรับจัดเป็นวนอุทยาน ในปีงบประมาณ 2526 กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น (วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน) บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน กิ่งอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 75 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง

ด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
 

  • น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน 

เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีสภาพการเกิดทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจ มีกลิ่นกำมะถันค่อนข้างอ่อน จำนวน 9 บ่อ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ภายในพื้นที่มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และมีไอน้ำลอยกรุ่นขึ้นจากบ่อปกคลุมรอบบริเวณราวกับสายหมอก น้ำพุร้อนมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของน้ำพุร้อนประมาณ 73 องศาเซลเซียส เป็นที่นิยมนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่ สำหรับไข่ไก่แช่นานประมาณ 17 นาที ไข่แดงจะแข็งมีรสชาติมันอร่อยส่วนไข่ขาวจะเหลวคล้ายไข่เต่า ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ของทุกปี บริเวณนี้จะพบจักจั่นจำนวนมากนับหมื่นตัว เชื่อว่าจักจั่นเหล่านี้หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะมาดื่มกินน้ำแร่ก่อนที่จะตาย

  • ห้องอาบน้ำแร่ 

มีทั้งห้องอาบแบบแช่ ซึ่งมีอ่างสำหรับลงแช่อาบ จำนวน 11 ห้อง และห้องอาบน้ำแบบตักอาบ โดยแยกระหว่างห้องอาบชายหญิง จำนวน 16 ห้อง อุณหภูมิของน้ำแร่ ประมาณ 39 - 42 องศาเซลเซียส เหมาะแก่การอาบเป็นอย่างยิ่ง การอาบน้ำแร่เป็นการบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่นช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น และยังช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น กลาก เกลื้อน ผื่นคัน เป็นต้น โดยน้ำแร่ที่ใช้อาบต่อท่อโดยตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อน  อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จะทำความสะอาดห้องอาบน้ำแร่ อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง โดยทำความสะอาดในตอนเย็น หลังจากไม่มีผู้ใช้บริการแล้ว

ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
 

  • จุดชมวิวดอยล้าน 

ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่ จซ 7 (ดอยล้าน) เป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงใหม่ อากาศเย็นช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม เหมาะกับการตั้งเต็นท์พักแรม นักท่องเที่ยวสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

  • ชมดอกเสี้ยวบาน 

ทุกๆ ปี ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนจะงดงามด้วยดอกเสี้ยว หรือเสี้ยวดอกขาว ที่บานประดับผืนป่า สามารถขับรถชมดอกเสี้ยวบานได้ตลอดเส้นทางแจ้ซ้อน-ป่าเหมี้ยง เป็นระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร

  • ถ้ำผางาม 

อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.3 (ผางาม) ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร มีถ้ำที่สามารถเข้าไปศึกษาและท่องเที่ยวได้จำนวนหลายถ้ำ เช่น ถ้ำผางาม (ถ้ำหนานขัด) ถ้ำน้ำ ถ้ำหม้อ ถ้ำหลวง ถ้ำลูกเกาะ เป็นต้น หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.3 อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 60 กิโลเมตร

  • น้ำตกแจ้ซ้อน 

เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำแม่มอน มีน้ำไหลตลอดปี มีแอ่งน้ำรองรับตลอดสาย ไหลตกลงมาเป็นชั้นๆ มีความสูงทั้งหมด 6 ชั้นในแต่ละชั้นจะมีความสวยต่างกันออกไป อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเพียง 1 กิโลเมตร มีทางเดินไปถึงได้สะดวก และสามารถเดินจากบ่อน้ำพุร้อนไปถึงน้ำตกได้เช่นกัน

  • น้ำตกแม่ขุน 

อยู่ใกล้กับน้ำตกแม่มอญ มีลักษณะเป็นน้ำตกสายยาวสูงประมาณ 100 เมตรไหลลงมาบรรจบกับน้ำตกแม่มอญ ต้องเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานประมาณ 5 กิโลเมตร ควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำทางด้วย

  • น้ำตกแม่เปียก 

เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งต่อจากน้ำตกแจ้ซ้อนเข้าถึงโดย เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 3 กิโลเมตร มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยชั้นน้ำตก 3 ชั้น ความสูงประมาณ 100 เมตร

  • น้ำตกแม่มอญ 

เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลอย่างรุนแรงจากชะง่อนผาสูงลงสู่หุบเหวเบื้องล่าง การตกของน้ำจะตกลงมาเป็นชั้นๆ สวยงามแปลกตา สภาพทั่วไปค่อนข้างอันตรายไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 5 กิโลเมตร ทางเข้าน้ำตกเป็นเส้นทางขนส่งแร่เดิม

 ด้านศึกษาธรรมชาติ
 

  • เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ 

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเลียบลำห้วยแม่มอญ ไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวได้ศึกษา หาความรู้ รวมทั้งได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ดังนี้ 

  •  เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกแจ้ซ้อน - น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง โดยจะเริ่มต้นเดินทางตั้งแต่ลานน้ำพุร้อนจนถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แล้ววกกลับมาทางใหม่อีกจนถึงลานน้ำพุร้อน ตลอดเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมายอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษา
  • เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่เปียก มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 3.7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง จะเริ่มเดินจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไปจนถึงน้ำตกแม่เปียก และเดินวกกลับมาอีกฟากหนึ่งของลำห้วย จนมาถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเดินกลับมาทางเดียวกับเส้นที่หนึ่ง ตลอดเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมายอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษา

 ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของสันเขาผีปันน้ำตะวันตก ทอดตัวตามแนวทิศเหนือสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เรื่อยไปทางทิศใต้จนถึงอำเภอแม่พริก ซึ่งเป็นเขตแบ่งระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 300-2,031 เมตร มียอดเขาสูงที่สุดคือ ดอยลังกา 

นอกจากนี้ยังประกอบด้วย ดอยสันผักกิ้ง ดอยชายแดน ดอยแม่กา ดอยตะไคร้ ดอยต๋ง ดอยวังหลวง ดอยห้วยหลอด ผาหลักไก่ ม่อนทางเก้า ดอยแม่บึก ม่อนจวง ดอยแม่มอน และดอยแปเมือง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1-A ของลุ่มน้ำวัง ประกอบด้วยลำน้ำขนาดต่างๆ จำนวนมากที่สำคัญได้แก่ น้ำแม่หมี น้ำแม่ต๋อม น้ำแม่สอย น้ำแม่มอน น้ำแม่ปาน น้ำแม่ฮะ น้ำแม่ปอม น้ำแม่บึง น้ำแม่สุ่ย และน้ำแม่ค่อม เป็นต้น และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญเป็นสาขาของแม่น้ำวัง เช่น แม่น้ำสอย ห้วยแม่กา ห้วยแม่ปาน นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินเป็นแหล่งน้ำพุร้อน บริเวณกว้างถึง 2,400 ตารางเมตร มีน้ำพุร้อนผุดจากบ่อเล็กถึง 9 บ่อ เต็มไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่ มีอัตราการไหลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งมีอัตราการไหลประมาณ 15 ลิตร/วินาที อุณหภูมิระหว่าง 39-47 องศาเซลเซียส

 ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จัดอยู่ในลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแล้ง ประกอบด้วย ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุกในเดือนกันยายน ปริมาณน้ำฝนในรอบปีมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 1,070 มิลลิเมตร มีการกระจายไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงต้นเดือนกันยายน และจะมีระยะฝนทิ้งช่วงระหว่างต้นเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างจะร้อน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 26 องศาเซลเซียส แต่โดยปกติอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดปี

 พืชพรรณและสัตว์ป่า
สังคมพืชของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสามารถจำแนกออกได้เป็น 
ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่โดยทั่วไปตามสันเขาและตามหุบเขาในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่โดยทั่วไปทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้เด่นที่พบส่วนใหญ่ประกอบด้วย สัก แดง ประดู่ แสมสาร กระบก กว้าว เก็ดแดง ติ้ว ซ้อ ปอกระสา ฯลฯ จะพบไผ่กระจายอยู่ทั่วไป เช่น ไผ่ซางนวล ไผ่ไร่ ไผ่หอบ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยที่พบมีกล้วยนวล กระชาย เล็บเหยี่ยว กะลังตังช้าง เครือออน เป็นต้น 

  • ป่าเต็งรัง พบอยู่ตามเชิงเขาไหล่เขาทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง มะกอกป่า แดง ประดู่ อ้อยช้าง กระโดน มะเกิ้ม โมกมัน มะค่าแต้ ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบได้แก่ หญ้าเพ็ก โจด และปรงป่า 
  • ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป มีอยู่เป็นหย่อมๆ บริเวณตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมู ไก๋ ทะโล้ เหมือด จำปาป่า ยางเหลือง ตะไคร้ต้น ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบ เช่น ไผ่ศก โชนผี และพืชในวงศ์ขิงข่า 
  • ป่าสนเขา ขึ้นเป็นหย่อมๆ บริเวณแนวสันเขา ไหล่เขา ที่มีความสูงมากกว่า 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ ก่อ จำปีป่า หว้า มะขามป้อมดง กำลังเสือโคร่ง ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้า หนาด สาบหมา และพืชในวงศ์ข่า 
  • ป่าดิบชื้น พบอยู่ในบริเวณหุบเขา ตามริมห้วยลำธารต่างๆ บริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง พันธุ์ไม้เด่นที่สำคัญ ได้แก่ ยาง มะหาด มะไฟ อบเชย ชมพู่ป่า สะท้อนรอก ลำไยป่าเครือ คอแลน สะตอ ยมป่า พระเจ้าห้าพระองค์ พืชพื้นล่างที่พบเป็นพวก ไผ่เฮียะ เฟิน หวาย และพืชในวงศ์ขิงข่า

เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ และผสมปะปนกันอยู่หลายชนิด ตลอดจนระดับความสูงที่แตกต่างกันตั้งแต่ 300 - 2,000 เมตร จึงทำให้เกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด สัตว์ป่าที่พบเห็นในเขตอุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วย เก้ง กวางป่า เลียงผา หมูป่า เสือดาว หมีควาย ชะนีมือขาว ลิงลม เม่น หมูหริ่ง ชะมด พังพอน ลิ่นพันธุ์ชวา กระต่ายป่า กระรอกหลากสี กระแต อ้นใหญ่ หนูฟานเหลือง ค้างคาวไผ่หัวแบนเล็ก ไก่ป่า นกเขาเปล้า นกบั้งรอกใหญ่ นกแอ่นพันธุ์หิมาลัย นกกะเต็นน้อยธรรมดา นกโพระดกคอสีฟ้า นกนางแอ่นบ้าน นกพญาไฟใหญ่ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกเขียวคราม นกกินแมลงอกเหลือง นกกางเขนดง นกจับแมลงจุกดำ นกสีชมพูสวน ตะพาบน้ำ จิ้งจกดินลายจุด กิ้งก่าสวน แย้ขีด จิ้งเหลนบ้าน งูสามเหลี่ยม งูลายสอใหญ่ งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว อึ่งกรายตาขาว คางคกบ้าน เขียดจะนา กบหนอง ปาดบ้าน และอึ่งขาดำ เป็นต้น ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี จะมีจักจั่นป่ามารวมตัวกันบริเวณน้ำพุร้อน ซึ่งเชื่อกันว่าจักจั่นป่าเหล่านี้มาดื่มน้ำแร่ 

บริการอาหาร - ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
มีร้านอาหารสวัสดิการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนไว้บริการอาหารและเครื่องดื่มแก่นักท่องเที่ยว สามารถจองล่วงหน้าได้ โทร 09-8513355, 054-229000 หรือติดต่อโดยตรงที่ฝ่ายรับจองอาหาร 0-9560-5178 นอกจากนี้ยังมีร้านค้าเอกชนบริการอาหารภายในอุทยานฯด้วย เปิดให้บริการอาหารตั้งแต่ 07.00 - 18.00 น.

ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค

กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก 

โซนที่ 1    แจ้ซ้อน 101-103    บ้านพักเดี่ยว โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (บ้านแจ้ซ้อน 101-103 อยู่กลุ่มเดียวกัน)
โซนที่ 1    แจ้ซ้อน 104-106    บ้านพักเดี่ยว โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (บ้านแจ้ซ้อน 104-106 อยู่กลุ่มเดียวกัน)
โซนที่ 1    แจ้ซ้อน 107-109    บ้านพักเดี่ยว โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (บ้านแจ้ซ้อน 107-109 อยู่กลุ่มเดียวกัน)
โซนที่ 1    แจ้ซ้อน 110-113    บ้านพักเดี่ยว โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (บ้านแจ้ซ้อน 110-113 อยู่กลุ่มเดียวกัน)
โซนที่ 2    แจ้ซ้อน 921/1-6    ค่ายพักแรม โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ใกล้ลานกางเต็นท์ (ค่ายแจ้ซ้อน 921-924 อยู่กลุ่มเดียวกัน) อยู่ห่างจากโซนบ้านพัก ประมาณ 800 เมตร
โซนที่ 2    แจ้ซ้อน 922/1-6    ค่ายพักแรม โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ใกล้ลานกางเต็นท์ (ค่ายแจ้ซ้อน 921-924 อยู่กลุ่มเดียวกัน) อยู่ห่างจากโซนบ้านพัก ประมาณ 800 เมตร
โซนที่ 2    แจ้ซ้อน 923-924    ค่ายพักแรม โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ใกล้ลานกางเต็นท์ (ค่ายแจ้ซ้อน 921-924 อยู่กลุ่มเดียวกัน) อยู่ห่างจากโซนบ้านพัก ประมาณ 800 เมตร
โซนที่ 1    แจ้ซ้อน 011-012 - ห้องประชุม 1-2    ห้องประชุม โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บริเวณอาคารนิทรรศการและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
โซนที่ 2    แจ้ซ้อน 013 - ห้องประชุม 3    ห้องประชุม โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บริเวณค่ายเยาวชน

 หมายเหตุ
กรณีที่มีผู้เข้าพักแรมในที่พักเกินจำนวนที่กำหนด ต้องชำระค่าตอบแทนที่พักสำหรับจำนวนที่เกินอีก โดยไม่มีเครื่องนอนหรือของใช้อื่นๆ เพิ่มอีก ดังนี้ ประเภทบ้านพัก ในอัตราคนละ 100 บาท/คน/คืน และ ประเภทค่ายพัก ในอัตราคนละ 50 บาท/คน/คืน

รถยนต์
     

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปอุทยานแห่งชาติได้ดังนี้

• จากตัวเมืองลำปาง ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) จนถึงปากทางเข้าอำเภอแจ้ห่มไปประมาณ 3 กิโลเมตร จนถึง กม.ที่ 58 เลี้ยวซ้ายมาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 ซึ่งผ่านอำเภอเมืองปาน และเลี้ยวไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน) เป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน 

• จากตัวเมืองลำปางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ลำปาง-ห้างฉัตร) เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1157 (ลำปาง-ห้วยเป้ง-เมืองปาน) ระยะทาง 55 กม. เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 (เมืองปาน-แจ้ห่ม) ประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 อีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
ต.แจ้ซ้อน  อ. เมืองปาน  จ. ลำปาง   52240
โทรศัพท์ 0 5438 0000, 08 9851 3355   โทรสาร 0 5438 0457 (VoIP)   อีเมล chaeson_np13@hotmail.com

แผนที่

บทวิจารณ์

Login For Reviews

แสดงความคิดเห็น

หัวข้อ
อ่านรีวิวโดย
วันที่
Tag
Browse Icon ขนาดภาพ 250 x 250 px