เลื่อนลงล่าง

อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย

โดย. Nattawan Bfc

15/05/59

Tag

Count :

Share

อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา พื้นที่ป่าอยู่ในส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรักประกอบด้วยภูเขาภูเล็กภูน้อยมากมาย เช่น ภูจองนายอย ภูจองน้ำซับ ภูจอง ภูจันทร์แดง ภูพลาญสูง ภูพลาญยาว เป็นต้น มีสภาพป่าสมบูรณ์ สภาพธรรมชาติที่สวยงาม และมีสัตว์ป่าชุกชุม มีเนื้อที่ประมาณ 428,750 ไร่ หรือ 686 ตารางกิโลเมตร 

ความเป็นมา: สืบเนื่องจาก ร.ต.ท.ณรงค์ เทวคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีได้มีหนังสือลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2525 ถึงกรมป่าไม้ เสนอโครงการพัฒนาป่าภูจอง-นายอยให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามความต้องการของราษฎรอำเภอนาจะหลวย และอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อป้องกันรักษาป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงามไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 116/2526 ลงวันที่ 19 มกราคม 2526 ให้นายอนุศักดิ์ ศรีทองแดง เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 ไปทำการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว 

ผลการสำรวจ ปรากฏว่าสภาพพื้นที่ป่าสมบูรณ์ สัตว์ป่าหลายชนิดชุกชุม และมีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ตามรายงานการสำรวจ ที่ กส 0713(ภจ)/พิเศษ ลงวันที่ 12 เมษายน 2526 เพื่อเป็นการสนองตอบความต้องการของราษฎรที่จะอนุรักษ์ป่าภูจอง-นายอยไว้ ต่อมานายเคน ประคำทอง ราษฎรอำเภออุดมเดช จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2526 ถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ กองอุทยานแห่งชาติจึงได้เร่งรัดสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมเห็นว่า พื้นที่ป่าภูจอง-นายอยมีสภาพทิวทัศน์และธรรมชาติที่สวยงามเหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือวนอุทยานภูจอง ที่ กห 0713(ภจ)/77 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2527 

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 3/2527 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2527 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูจอง-นายอยในท้องที่ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริก ตำบลนาจะหลวย อำเภอนาจะหลวย และตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 103 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2530 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 53 ของประเทศ 

ด้านธรรมชาติที่สวยงาม

แก่งกะเลา

เป็นแก่งหินกลางลำธารห้วยหลวงที่มีธารน้ำไหลแผ่กว้างไปตามลานหิน บรรยากาศร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้นานาชนิดและหมู่ผีเสื้อที่บินว่อนทั่วบริเวณเหมาะแก่การศึกษาธรรมชาติและลงเล่นน้ำ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2.5 กม. รถยนต์เข้าถึงได้

แก่งศิลาทิพย์

เป็นแก่งขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2.9 กิโลเมตร เกิดจากลำธารห้วยหลวงไหลผ่านลานหินทราย ผ่านแหล่งหินหักลงเป็นขั้น จนเกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็ก บริเวณลานหินกลางลำธารเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “กุมภลักษณ์” คือหินถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนเกิดเป็นหลุมกลมมากมายขนาดเล็กใหญ่ตื้นลึกแตกต่างกันไปตามความแรงของสายน้ำดูสวยงามแปลกตายิ่งนัก
    
แก่งสนสามพันปี 

เป็นแก่งหินกลางป่าที่งดงามด้วยสายน้ำ เป็นจุดชมพืชพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นจุดเริ่มต้นการ “ล่องแพ” ในฤดูที่มีน้ำ เป็นการล่องแพ หรือพายเรือแคนนูไปตามลำห้วยหลวงที่ใสเย็น สงบเงียบ ขึ้นไปทางต้นน้ำ ระยะทางประมาณ 800 เมตร ใช้เวลาไปกลับประมาณ 2 ชั่วโมง แก่งสามพันปีแห่งนี้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เข้าถึงได้ด้วยรถยนต์ หรือด้วยการเดินป่าไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งตลอดเส้นทางจะผ่านผืนป่าที่ร่มครื้น บริเวณริมฝั่งทางจะพบต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ส่วนใหญ่จะพบได้เฉพาะในพื้นที่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ เท่านั้นได้แก่ต้น “สนสามพันปี” ด้วย
    
จุดชมทิวทัศน์ผาผึ้ง

บริเวณผาผึ้งอยู่ถัดจากพลาญยาวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สามารถชมทิวทัศน์สวยงามตามแนวชายแดนกัมพูชาประชาธิปไตย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยที่ชะง่อนผามีถ้ำขนาดย่อย ๆ หินสวยงามและรังผึ้งขนาดใหญ่ให้ชม
    
น้ำตกเกิ้งแม่ฟอง 

อยู่กลางป่าลึกอันอุดมสมบูรณ์ เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำโดมน้อย โดยสายน้ำไหล ผ่านลานหินแล้วตกลงจากหน้าผาที่มีความสูงประมาณ 10 เมตร ในช่วงฤดูฝนจะมีพืชจำพวกมอสเฟิร์นขึ้นเขียวครึ้มทั่วทั้งบริเวณโขดหิน ภายใต้เพิงผาน้ำตกจะมีทางเดินลอดใต้ม่านน้ำข้ามไปยังโขดหินฝั่งตรงข้ามซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงามแปลกตา นอกจากนั้นยังอุดมไปด้วยผีเสื้อนานาชนิด น้ำตกเกิ้งแม่ฟองอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 10 กิโลเมตร เข้าถึงได้ด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ และการเดินเท้า
    
น้ำตกประโอนละออ

ภาพโดย : นายหมูคร๊าบบบ

น้ำตกประโอนละออ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึงว่า น้ำตกจุ๋มจิ๋ม เป็นน้ำตกที่อยู่ต่อจากน้ำตกห้วยหลวง ห่างจากน้ำตกห้วยหลวงประมาณ 100 เมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่สวยงาม มีแอ่งน้ำที่เหมาะสำหรับลงเล่นและนวดตัวด้วยสายน้ำ

น้ำตกห้วยหลวง

น้ำตกห้วยหลวง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าน้ำตกบักเตว เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่พอสมควร มีผาน้ำกระโจนตกจากแอ่งสู่เวิ้งเบื้องล่างสูงราว 40 เมตร แบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นกลางจะสวยที่สุด มีทางขึ้นลงธรรมชาติ เพื่อชมและเล่นน้ำบริเวณอ่างน้ำด้านล่างได้สะดวก ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 3 กิโลเมตร

พลาญกงเกวียน 

ลานหินกว้าง ที่ด้านหน้ามีกลุ่มหินลักษณะเป็นเพิงตามธรรมชาติ มีดอกไม้ป่าและพันธุ์ไม้ชื้นสลับกันเป็นหย่อมๆ ซึ่งประวัติความเป็นมาว่า ในอดีตนักเดินทางได้ใช้ประโยชน์จากเพิงหินเหล่านี้ สำหรับกำบังแดดและฝน เปรียบเพิงหินเสมือน “กงเกวียน” จึงเป็นที่มาของชื่อ “พลาญกงเกวียน” โดยพลาญ หมายถึง บริเวณที่เป็นลานกว้าง และกงเกวียนซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่าพวงเกวียน หมายถึงประทุ่นหรือกระทุนของเกวียน
    
พลาญป่าชาด

อยู่ระหว่างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ มีลักษณะเป็นลานหินสลับด้วยทุ่งดอกไม้นานาชนิด ที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เช่น มณีเทวา ดุสิตา สรัสจันทร เป็นต้น บางส่วนเป็นผืนป่าเต็งรังขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยต้นยางเหียงหรือต้นชาด ในช่วงต้นฤดูฝนดอกกระเจียวจะผลิดอกเบ่งบานเต็มท้องทุ่ง ที่มาของชื่อ “พลาญป่าชาด” บริเวณกลางป่าจะมีลำธารซึ่งสร้างความชุ่มชื้น และเป็นจุดกำเนิดของน้ำตก “พลาญป่าชาด” นับเป็นเส้นทางเดินป่าที่เต็มไปด้วยพันธุ์ดอกไม้และพืชพันธุ์หลากหลายชนิด
    
ภูหินด่าง

ภาพโดย : wongsangam

เป็นภูเขาหินทรายที่ประกอบไปด้วยป่าลานหินที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่สวยงามแปลกตาแตกต่างจากที่อื่น ได้แก่ ลานหินงอก ลานหินเป็นระแหง แอ่งหินเว้า และร่องหินแยก ตามเส้นทางเดินป่าไปสู่ยอดภูเต็มไปด้วยต้นกล้วยไม้ป่านานาชนิดและดอกไม้หลากสีที่ขึ้นอยู่ตามลานหิน แตกต่างกันตามฤดูกาลจากจุดชมวิวบริเวณหน้าผา สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้ารวมทั้งทะเลหมอกในฤดูหนาว ชมทัศนียภาพที่สวยงามแปลกตาของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และสภาพป่าในเขตประเทศลาวและกัมพูชาที่อยู่เบื้องล่าง ที่ผนังหินใต้เพิงผาปรากฏแทบสีแดงและสีชมพูอยู่หลายแห่งซึ่งเป็นที่มาของชื่อ“ภูหินด่าง” ภูหินด่างแห่งนี้ เหมาะสำหรับการกางเต็นท์พักแรม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 51 กิโลเมตร โดยการเดินทางเข้าภูหินด่างต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง
การเดินทางสู่ภูหินด่างใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2248 จากอำเภอนาจะหลวยถึงบ้านห้วยข่า เลี้ยวเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2254 ถึงบ้านหนองเม็ก มีทางลูกรังแยกไปทางซ้าย เมื่อถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภจ. 5 (พลาญมดง่าม) ต้องขึ้นเขาชันอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงภูหินด่าง

ด้านศึกษาธรรมชาติ

เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ 

1. เส้นทางเดินป่าน้ำตกห้วยหลวง มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่บริเวณน้ำตกห้วยหลวง การเดินจะเริ่มจากบริเวณลานจอดรถยนต์ ผ่านป่าดิบแล้งริมห้วยหลวง ซึ่งเป็นสายธารของน้ำตกห้วยหลวง สิ้นสุดที่บริเวณหลังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

2. เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติสามพันปี มีระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินป่าที่ผ่านสภาพป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และพันธุ์ไม้ดอกหลากชนิด เป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก เริ่มจากผลาญป่าชาดไปสิ้นสุดที่น้ำตกห้วยหลวง

3. เส้นทางการเดินป่าศึกษาธรรมชาติแก่งศิลาทิพย์ ระยะทาง 2.9 กิโลเมตร ผ่านป่าหลากหลายชนิด ทั้งป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และทุ่งดอกหญ้านามพระราชทานต่างๆ เริ่มจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ไปสิ้นสุดที่แก่งศิลาทิพย์

ลักษณะภูมิประเทศ    

ส่วนใหญ่บริเวณป่าภูจอง-นายอยจะเป็นเทือกเขาแหล่งต้นน้ำของลำน้ำลำห้วยที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ ส่วนมากดินจะเป็นดินลูกรังปะปนหินปูนตามบริเวณที่ราบบนเนินเขา และประกอบด้วยลานหินลักษณะต่างๆ ตลอดจนหน้าผา เช่น ผาผึ้ง

ลักษณะภูมิอากาศ    

สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย จัดเป็น 3 ฤดู ฤดูฝน เริ่มราวเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน ฤดูหนาว เริ่มราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ฤดูร้อน เริ่มราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งอากาศโดยทั่วไปไม่ร้อนจัดเย็นสบายตลอดทั้งปี โดยช่วงฤดูหนาวมีอากาศที่เย็นมากอีกครั้งหนึ่ง

พืชพรรณและสัตว์ป่า    

ประกอบด้วยพรรณไม้ชนิดป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ซึ่งขึ้นอยู่เป็นส่วนๆ มีพรรณไม้ขึ้นหนาแน่นประมาณร้อยละ 75 โดยเฉลี่ยประกอบด้วยไม้พื้นล่างขึ้นหนาแน่น ได้แก่ จำปาป่า และพรรณไม้ดอกต่างๆ แซมเป็นไม้พื้นล่างให้กับไม้ยืนต้นจำพวกตะเคียนทอง ประดู่ ยาง กระบาก ปู่จ้าว พะยูง มะค่า แกแล เป็นต้น ขึ้นแยกอยู่ตามสภาพป่า

 

 บริการอาหาร - ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

มีร้านอาหารให้บริการ

ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค

กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก

*หมายเหตุ
กรณีที่มีผู้เข้าพักแรมในที่พักเกินจำนวนที่กำหนด ต้องชำระค่าตอบแทนที่พักสำหรับจำนวนที่เกินอีก โดยไม่มีเครื่องนอนหรือของใช้อื่นๆ เพิ่มอีก ดังนี้ ประเภทบ้านพัก ในอัตราคนละ 100 บาท/คน/คืน และ ประเภทค่ายพัก ในอัตราคนละ 50 บาท/คน/คืน สำหรับการจัดโซนและจำนวนที่พัก-บริการ 

การเดินทาง

รถยนต์

จากกรุงเทพฯ ได้ทั้งทางรถไฟ รถยนต์ สายเก่า-สายใหม่ เมื่อถึงจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เดินทางโดยรถยนต์ประจำทาง จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอนาจะหลวย ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ถ้าหากจะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว แนะนำให้ใช้เส้นทาง อุบลราชธานี-อำเภอวารินชำราบ อำเภอเดชอุดม อำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย ระยะทางรวม 140 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอนาจะหลวยประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงบ้านแก้งเรืองซึ่งมีทางแยกเข้าอุทยานแห่งชาติ


อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย
ต.นาจะหลวย  อ. นาจะหลวย  จ. อุบลราชธานี   34280
โทรศัพท์ 0 4521 0706   โทรสาร 0 4521 0706   อีเมล phuchong2550@hotmail.com

แผนที่

บทวิจารณ์

Login For Reviews

แสดงความคิดเห็น

หัวข้อ
อ่านรีวิวโดย
วันที่
Tag
Browse Icon ขนาดภาพ 250 x 250 px

Tag

Count :