เลื่อนลงล่าง

อุทยานแห่งชาติตาดโตน

โดย. Nattawan Bfc

22/05/59

Tag

Count :

Share

"ชมวิดีโอท่องเที่ยวอุทยานเเห่งชาติตาดโตน...คลิกที่นี่"

วิดีโอโดย : องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ

ด้านธรรมชาติที่สวยงาม

จุดชมทิวทัศน์ภูโค้ง

ภูโค้งเป็นยอดเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 945 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สามารถมองเห็นทิวทัศน์อำเภอแก้งคร้อ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มองเห็นเทือกเขาภูผาแดง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว สภาพพื้นที่เป็นป่าดิบแล้ง และมีทุ่งหญ้ากว้างประมาณ 50 - 60 ไร่ เรียกว่า “แหละยาว” ในฤดูหนาวอุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส และมีพรรณไม้ดอก ขึ้นกระจัดกระจาย ได้แก่ดาวกระจาย ดอกดุสิตตา ดอกกระเจียว และดอกหญ้าชนิดอื่นๆ ขึ้นอย่างหนาแน่น เป็นจุดชมวิวที่สวยงามแห่งหนึ่งของอุทยานแห่งชาติตาดโตนและยังเป็นที่ตั้งของ “องค์ศิวะลึงค์” ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 ใช้เป็นที่เคารพสักการะแทนองค์พระศิวะ และถือว่าเป็นองค์ศิวะลึงค์ที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ ปัจจุบันการเดินทางต้องใช้การเดินเท้าจากน้ำตกตาดฟ้าขึ้นไประยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ภูโค้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 26 กิโลเมตร และห่างจากน้ำตกถ้ำเหี้ย 8 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา

น้ำตกตาดโตน 

จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของอุทยานแห่งชาติตาดโตน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชัยภูมิ ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิไปทางทิศเหนือ 21 กิโลเมตร และทางลาดยางตลอดถึงน้ำตก ด้านบนน้ำตกมีสภาพเป็นลานหินกว้างประมาณ 50 เมตร และยาวไปตามลำน้ำประมาณ 300 เมตร ทำให้น้ำไหลลาดมาตามลานหิน มีแอ่งที่สามารถเล่นน้ำได้เป็นจุดๆ และไหลลงมาตกที่หน้าผาเป็นน้ำตกตาดโตนที่มีความสูงประมาณ 6 เมตร และกว้าง 50 เมตร ในฤดูฝน (ประมาณเดือน มิถุนายน - กันยายน) น้ำตกจึงจะมีน้ำมากเต็มหน้าผา ซึ่งมีผู้นิยมไปลงเล่นน้ำเพราะน้ำไม่ลึกและปลอดภัย ที่ทำการอุทยานแห่งชาติตาดโตนจะอยู่ใกล้กับบริเวณน้ำตกตาดโตนนี้

น้ำตกตาดบง 

เป็นลักษณะน้ำตกที่เป็นลานหินลาดไปตามแนวยาวของห้วยลำปะทาว มีบริเวณที่เล่นน้ำและนั่งพักผ่อน บริเวณสองฝั่งลำห้วยมีพันธุ์ไม้ก้านเหลืองมีใบหนาขึ้นปกคลุม บดบังแสงแดดเป็นที่ร่มรื่น อยู่ห่างจากน้ำตกตาดโตนประมาณ 1,200 เมตร

น้ำตกตาดฟ้า 

เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายแก่งหินขวางลำน้ำ บริเวณน้ำตกเป็นลานหินลาดชันกว้างประมาณ 15-20 เมตร ยาวโดยตลอดประมาณ 80-90 เมตร มีความลาดชันประมาณ 30 องศา ในฤดูฝนน้ำตกจะมีความสวยงามมากผู้ที่เข้าไปเที่ยวน้ำตกสามารถ ที่จะเล่นลื่นไหลไปตามแผ่นหินอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน ที่เรียกว่า “สไลด์เดอร์ธรรมชาติ” น้ำตกอยู่ทางทิศตะวันออกของเขตอุทยานแห่งชาติ ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 23 กิโลเมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 19 กิโลเมตร การคมนาคมจะไปตามทางลาดยางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงบ้านไทรงามแล้ว แยกซ้ายมือไปตามถนนลาดยางถึงบ้านนาวัง แยกขวามือบริเวณโรงเรียนบ้านนาวังเข้าไปเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร สองข้างทางเป็นป่าเต็งรัง ถึงบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ตน.3 (ตาดฟ้า) ปัจจุบันเปิดให้บริการบ้านพัก 4 หลัง สถานที่กางเต็นท์ ห้องประชุม และร้านอาหาร เป็นต้น

น้ำตกถ้ำเหี้ย 

เป็นน้ำตกที่มีความสูงไม่มากนัก สูงประมาณ 1.5 เมตร มีลักษณะเป็นลำล้ำที่ไหลลงมาตามลานหินที่มีความเอียงประมาณ 25-35 องศา ความยาวประมาณ 120 เมตร ในบริเวณน้ำตกมีก้อนหินขนาดใหญ่มีลักษณะคล้ายตัวเหี้ยกำลังลงมาจากเขาจะกระโดดลงน้ำ และในอดีตจะมีตัวเหี้ยอยู่บริเวณนี้มาก จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตก สามารถเดินทางมาจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตน.3 (น้ำตกตาดฟ้า) ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร

น้ำตกผาสองชั้น 

อยู่เหนือขึ้นไปจากน้ำตกผาเอียงประมาณ 400 เมตร มีลักษะเป็นน้ำตกซึ่งจากหน้าผาสองชั้น โดยหน้าผามีความสูงประมาณ 5 เมตร หากลงไปทางท้ายน้ำไม่ไกลจากน้ำตกผาเอียงยังมีน้ำตกผานิต

น้ำตกผาเอียง 

เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นหน้าผาเฉลียงตัดลำห้วยอยู่ทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติตาดโตน อยู่ห่างจากทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) บริเวณบ้านชีลองเหนือ ประมาณ 3 กิโลเมตร มีทางเดินเท้าถึงตัวน้ำตกประมาณ 800 เมตร บริเวณรอบน้ำตกแห่งนี้เป็นป่าดิบแล้งค่อนข้างสมบูรณ์โดยมีต้นไม้ขนาดใหญ่เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ร่มรื่นเหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างยิ่ง

หินแม่ช้างและน้ำตกแก่งห้วยชัน 

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านบ้านหินหนีบ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงหินแม่ช้างเดินเท้าต่อไปประมาณ 300 เมตร ถึงน้ำตกแก่งหินชัน หินแม่ช้าง เป็นกลุ่มหินทรายที่มีรูปร่างแตกต่างกันตามมุมมอง จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ได้ชื่อว่าหินแม่ช้างเนื่องจาก ในอดีตได้มีช้างฝูงหนึ่งออกหากินและได้เดินทางมาพักผ่อนบริเวณนี้ ขณะที่พักผ่อนอยู่ ลูกช้างซึ่งอยู่ในวัยซุกซนได้วิ่งออกไปจากฝูงจะกระทั่งหลงทางแล้วกลับเข้าฝูงไม่ได้ ด้วยความรักและเป็นห่วงลูก แม่ช้างก็ได้นอนรออยู่ที่เดิมจนกระทั่งตายและได้กลายเป็นหินในเวลาต่อมา น้ำตกแก่งชัน มีความสูงประมาณ 1.5 เมตร อยู่ในลำห้วยน้ำซับ เป็นลำธารที่มีลักษณะความลาดเอียงประมาณ 15-30 องศา มีความสวยงามมากในช่วงฤดูฝน

ด้านประวัติศาสตร์

ผาเกิ้งและพระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ 

เป็นจุดสูงสุดของทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) บริเวณกิโลเมตรที่ 27 เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมาก มองไปทางทิศเหนือจะเห็นตัวอำเภอหนองบัวแดง และเทือกเขาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ที่บริเวณผาเกิ้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองจังหวัดชัยภูมิ ปางห้ามญาติ สูงประมาณ 14 ศอก พระพักตร์หันไปทางหน้าผาทิศเหนือ

ศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ศาลปู่ด้วง) 

อยู่ที่บริเวณน้ำตกตาดโตน เป็นที่เลื่อมใสและเคารพสักการะของชาวจังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากปู่ด้วงเป็นคนรุ่นเดียวกันกับเจ้าพ่อพระยาแล (เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดชัยภูมิ) ปู่ด้วงท่านชอบใช้ชีวิตแบบสมถะ สันโดษ ชอบความสงบ เที่ยวเดินไปในป่าตลอดเทือกเขาแลนภูคา และมีความรู้ในทางสมุนไพรช่วยเหลือรักษาชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย ประกอบกับท่านใช้ความรู้ในทางเวทมนต์คาถา จนเป็นที่เลื่องลือเลื่อมใสของชาวบ้าน แม้ว่าปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตไปนานแล้ว ชาวบ้านก็ยังเลื่อมใสศรัทธา

ด้านศึกษาธรรมชาติ

เส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ 

อุทยานแห่งชาติตาดโตน ได้จัดทำเส้นทางเดินเท้าเพื่อศึกษาธรรมชาติทั้งในบริเวณน้ำตกตาดโตน น้ำตกผาเอียง และ น้ำตกตาดฟ้า ตามเส้นทาง นักท่องเที่ยวจะได้พบกับสภาพป่า พรรณไม้ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่รอให้นักท่องเที่ยวผู้ที่สนใจได้ไปสัมผัส และเรียนรู้ธรรมชาติอันบริสุทธิ์

ลักษณะภูมิประเทศ    
อุทยานแห่งชาติตาดโตน มีพื้นที่อยู่บนเทือกเขาภูแลนคา มีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของเทือกเขาภูแลนคา โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงโดยมีเทือกเขาล้อมรอบที่ราบเอาไว้ ตอนกลางเป็นหุบเขากว้างใหญ่ พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะมีเขาภูเขียว ภูกลาง และภูแลนคา ซึ่งจะมีระดับสูงสุด 905 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือจะมียอดภูแลนคาซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติตาดโตน โดยมีความสูงประมาณ 945 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาสูงเหล่านี้เป็นต้นน้ำลำธารของห้วยต่างที่สำคัญหลายสาย และต้นกำเนิดของน้ำตกตาดโตน ได้แก่ ห้วยลำปะทาวหรือห้วยตาดโตน ห้วยน้ำซับ ห้วยคร้อ ห้วยตาดโตนน้อย ห้วยสีนวน และห้วยแก่นท้าว ซึ่งจะไหลรวมกันเป็นห้วยปะทาวและไหลผ่านตัวอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ยังมีห้วยที่สำคัญคือ ห้วยชีลอง ห้วยช่อระกา ห้วยเสียว ห้วยแคน และห้วยเสียวน้อย สภาพป่าเป็นป่าดิบแล้ง ในบริเวณริมลำห้วยหุบเขาและยอดเขามีดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี และป่าเต็งรังเป็นดินกรวด มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ

ลักษณะภูมิอากาศ    
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติตาดโตนแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อน อุณหภูมิสูงถึง 42.6 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน จึงเป็นอุทยานแห่งชาติที่ประชาชนนิยมไปเล่นน้ำตกเพื่อพักผ่อนและเล่นน้ำเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,154 มิลลิเมตร น้ำตกตาดโตนจะมีน้ำไหลเต็มที่และสวยงามมาก ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม - มกราคม อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม ประมาณ 7 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า    
สภาพป่าโดยทั่วไปจำแนกออกได้เป็น 2 ชนิดของสังคมพืชคือ ป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังในอุทยานแห่งชาติตาดโตนพบขึ้นกระจัดกระจายในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 250-400 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง พลวง แดง ชิงชัน ตะแบกเลือด มะกอกเกลื้อน ก่อแพะ กระโดน และมะค่าแต้ ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างที่สำคัญได้แก่ หญ้าเพ็ก ลูกไม้ต่างๆ กระดูกอึ่ง ลูกใต้ใบ เฟิน หมักม่อ กระมอบ และนางนวล เป็นต้น ในช่วงฤดูฝนจะมีไม้พื้นล่างพวกหญ้าและหญ้าเพ็กขึ้นอยู่หนาแน่นทั่วไป ใช้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ป่าที่อยู่บนพื้นดินได้ดี เช่น กระต่ายป่า พังพอนธรรมดา นกคุ่มอืด นกกระทาทุ่ง นกกระรางหัวขวาน อ้นเล็ก กระจ้อน รวมทั้งหนู จิ้งเหลน และงูอีกหลายชนิด แต่ในฤดูแล้งพื้นป่าจะโปร่ง ประกอบกับมักเกิดไฟไหม้ป่าอยู่ประจำ สัตว์ป่าที่มีโพรง รังอาศัย หรือหาอาหารตามเรือนยอดและลำต้นของไม้ยืนต้น เช่น กระรอกบินเล็กแก้มขาว กระรอกบินแก้มสีแดง กิ้งก่าบินปีกสีส้ม กิ้งก่าสวนหัวสีน้ำเงิน กิ้งก่าสวนหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน นกตะขาบทุ่ง นกตีทอง รวมทั้งนกหัวขวาน นกแซงแซว นกปรอด นกกระจิ๊ด นกกระจิบ และนกกินปลี จะไปหลบภัยอยู่ในพื้นที่ป่าดิบแล้ง

ป่าดิบแล้งในอุทยานแห่งชาติตาดโตนเป็นป่าที่ขึ้นในที่ค่อนข้างชุ่มชื้น บริเวณริมน้ำลำธาร หุบเขาและ ยอดเขา ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-900 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ พะอง กระบก จิกดง ตีนเป็ดเขา ค้างคาว ติ้วแดง พะยอม พะวา มะกล่ำต้น หว้า ยางแดง มะแฟน พลองกินลูก ลำดวน และกะอวม พื้นป่าประกอบด้วยกล้าไม้ของไม้ชั้นบน ปอขนาน แก้ว เข็มขาว สาปเสือ หวายเขียว และเต่าร้าง เป็นต้น บนชั้นเรือนยอดไม้ยืนต้นในป่าดิบแล้งเป็นบริเวณที่สัตว์ป่าหลายชนิดใช้เป็นที่อยู่อาศัย หากิน หลบซ่อนตัว รวมทั้งดำเนินกิจกรรมต่างๆ สัตว์ป่าเหล่านี้ได้แก่ ลิงกัง ลิงลม พญากระรอกบินหูแดง กระรอกบินเล็กแก้มขาว ระรอกหลากสี นกบั้งรอกใหญ่ นกแก๊ก นกหกเล็กปากแดง นกปีกลายสก๊อต นกเปล้าธรรมดา รวมทั้งเหยี่ยวอีกหลายชนิด สัตว์ป่าที่ใช้ประโยชน์บริเวณพื้นป่าของป่าดิบแล้ง ได้แก่ หมูป่า เก้ง อีเห็นข้างลาย ลิ่น หนูหวาย ไก่ป่า นกกระรางหัวหงอก นกกระเบื้องผา ตะกวด งูเหลือม ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน ผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่ และผีเสื้อจรกามลายู เป็นต้น

สำหรับในบริเวณพื้นที่ที่เป็นป่าเหล่าและไร่ร้างซึ่งเดิมเคยถูกปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ต่อมาถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อปลูกพืชไร่แล้วถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน การทดแทนของพืชพรรณตามธรรมชาติจะเป็นพวกไม้พุ่มและลูกไม้ของไม้ยืนต้น ส่วนบริเวณที่เพิ่งถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่นานจะมีพวกไม้ล้มลุก หญ้าคา หญ้าขจรจบ พง และเลาขึ้นอยู่หนาแน่น สัตว์ป่าที่เข้าไปอาศัยอยู่หรือเข้าไปหาอาหารจึงมักเป็นสัตว์ขนาดเล็กและได้รับประโยชน์จากการอาศัยอยู่ในที่ค่อนข้างโล่ง เช่น กระต่ายป่า นกคุ่มอืดใหญ่ นกเขาหลวง นกเขาไฟ นกเขาชวา นกตะขาบทุ่ง นกเด้าดินทุ่ง นกปรอดสวน นกปรอดหัวสีเขม่า นกแซงแซวหางปลา นกกระจิบ นกกิ้งโครงคอดำ นกยอดหญ้าหัวดำ กิ้งก่าสวนหัวแดง พังพอนธรรมดา หมูป่า ผีเสื้อหางตุ้มอดัมสัน ผีเสื้อเชิงลายธรรมดา และผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา เป็นต้น

สำหรับในบริเวณธารน้ำไหลพบปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ปลาร่องไม้ตับ ปลาสร้อยนกเขา ปลาแก้มช้ำ ปลากระทิงดำ ปลาช่อนทราย ปลากดเหลือง และปลากดหิน บริเวณริลำห้วย ลานหิน โขดหิน และซอกหลืบหินริมทางน้ำ มีสัตวป่าหลายชนิดเข้ามาใช้ประโยชน์ เป็นที่อยู่อาศัย หลบภัย หาอาหาร ได้แก่ เหยี่ยวรุ้ง นกอุ่มบาตร นกเด้าลมหลังเทา นกเด้าลมดง นกกวัก นกยางเขียว นกกระเต็นธรรมดา นกกระเต็นใหญ่ธรรมดา นกกางเขนบ้าน นกอีแพรดแถบอกดำ นกกระติ๊ด งูเห่า งูสิงธรรมดา งูทับสมิงคา จิ้งเหลนภูเขาลายจุด ตะกวด กบหนอง เขียดอ่อง เขียดลื่น เขียดจะนา อึ่งลายแต้ม เขียดตะปาด คางคกบ้าน หมูป่า พังพอนธรมดา และอีเห็นข้างลาย 

 บริการอาหาร - ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

มีร้านอาหารบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นร้านค้า ร้านอาหาร ของเอกชนที่ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการแล้ว

ท่านสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเตอร์เน็ต www.dnp.go.th ของกรมเท่านั้น (กรมไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาค

กรณีที่ชำระเงินกับทางธนาคาร กรมจะทราบข้อมูลการชำระเงินได้โดยออนไลน์กับทางธนาคาร ก็จะทราบว่ารายการจองใดได้ชำระเงินแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องโทรสารเอกสารแสดงการชำระเงินมาที่กรมอีก โปรดนำหลักฐานการจองและเอกสารการชำระเงิน เฉพาะบมจ.ธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก และในกรณีที่ชำระเงินกับหน่วยงานในสังกัดกรม ให้นำใบเสร็จรับเงินไปยื่นแสดงในวันเข้าพัก

*หมายเหตุ
กรณีที่มีผู้เข้าพักแรมในที่พักเกินจำนวนที่กำหนด ต้องชำระค่าตอบแทนที่พักสำหรับจำนวนที่เกินอีก โดยไม่มีเครื่องนอนหรือของใช้อื่นๆ เพิ่มอีก ดังนี้ ประเภทบ้านพัก ในอัตราคนละ 100 บาท/คน/คืน และ ประเภทค่ายพัก ในอัตราคนละ 50 บาท/คน/คืน สำหรับการจัดโซนและจำนวนที่พัก-บริการ ที่เปิดให้บริการในอุทยานแห่งชาติมีดังต่อไปนี้

การเดินทาง

รถยนต์

จากกรุงเทพมหานคร ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนมิตรภาพกรุงเทพมหานคร - จังหวัดสระบุรี) ไปจังหวัดนครราชสีมา ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 แยกซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอสีคิ้ว อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เข้าสู่อำเภอจัตุรัส ถึง จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทาง 330 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2051 (จังหวัดชัยภูมิ - น้ำตกตาดโตน) ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร

จากจังหวัดนครสวรรค์ ถึงจังหวัดชัยภูมิ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 ผ่านอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอบ้านเขว้า เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 227 กิโลเมตร

จากจังหวัดขอนแก่น ใช้เส้นทางสายจังหวัดขอนแก่น - ตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 229 ระยะทางประมาณ 87 กิโลเมตร จากตำบลช่องสามหมอ ถึง ตัวจังหวัดชัยภูมิ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร

จากจังหวัดนครราชสีมา ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (อำเภอหนองบัวโคก - จังหวัดชัยภูมิ) รวมระยะทางประมาณ 117 กิโลเมตร

จากอำเภอบัวใหญ่ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 ถึง จังหวัดชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 52 กิโลเมตรจากนั้นเดินทางต่อตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2051 (จังหวัดชัยภูมิ - น้ำตกตาดโตน) ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง     

จากสถานีขนส่งหมอชิต สายกรุงเทพ ฯ - จังหวัดชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 330 กิโลเมตร เดินทางต่อด้วยรถยนต์โดยสารประจำทาง สายจังหวัดชัยภูมิ - ท่าหินโงม ลงรถที่ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติตาดโตน แล้วเดินเท้าอีก 1 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติตาดโตน

อุทยานแห่งชาติตาดโตน
ต.นาฝาย  อ. เมืองชัยภูมิ  จ. ชัยภูมิ   36000
โทรศัพท์ 0 4485 3293, 0 4485 3333   โทรสาร 0 4485 3332   อีเมล tatton_np@hotmail.com

แผนที่

บทวิจารณ์

Login For Reviews

แสดงความคิดเห็น

หัวข้อ
อ่านรีวิวโดย
วันที่
Tag
Browse Icon ขนาดภาพ 250 x 250 px

Tag

Count :