เลื่อนลงล่าง

อุทยานแห่งชาติรามคำแหง

โดย. Stm Rukprang

23/03/60

Share

หากมีเวลาไม่มาก จะหาที่เดินป่าชื้นใกล้ๆไม่ต้องไปไกลถึงภาคเหนือ แนะนำที่นี่เลยค่ะ เขาหลวง สุโขทัย ตั้งอยู่ใน อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ทางเดินไกลแถมสวยอีกต่างหาก

ป่ะๆๆ เก็บกระเป๋าแล้วไปเที่ยวเขาหลวงกัน smiley

 

"เขาหลวงสุโขทัย" เป็นภูเขาที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และยังมีความสวยงามที่นักท่องเที่ยว หลายคนหวังที่จะขึ้นไปพิชิตมันสักครั้ง แม้รู้ว่าหนทางนั้นยากลำบาก คำถามก็คือ แล้วมันมีเสน่ห์ยังไง ถึงทำให้คนมากมายอยากขึ้นเขาหลวง....

"หลวง" ในภาษาเหนือ แปลว่า ยิ่งใหญ่ ซึ่งเขาแห่งนี้มีอยู่ในบันทึกของพ่อขุนรามคำแหงด้วยย เขาหลวง เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน มียอดเขาสูงที่สุดอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัย บนยอดเขามีทิวทัศน์ที่สวยงาม และปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมียอดเขา 4 แห่งที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ ยอดเขานารายณ์ สูง 1,160 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นที่ตั้งของสถานีโทรคมนาคมเขานารายณ์ของกองทัพอากาศ บริเวณเขานารายณ์มีหน้าผาสูงชันแต่สวยงาม มองเห็นทิวทัศน์รอบเขา ยิ่งช่วงกลางคืนมองจากจุดนี้ลงไปยังจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก จะเห็นแสงไฟระยิบระยับราวกับดาวบนดิน ยอดเขาพระแม่ย่า สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,200 เมตร เดิมเคยเป็นที่ประทับและจำศีลภาวนาของพระแม่ย่า ยอดเขาภูกา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,200 เมตร และสุดท้ายคือ ยอดเขาพระเจดีย์ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,185 เมตร 

บรรยากาศโดยรอบทางขึ้นสู่ยอดเขาหลวง

ทางขึ้นสู่ยอดเขาหลวง

เมื่อเดินเข้าไปจะมีศาลาซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐสถานอยู่ เราก็ไหว้พระขอพร เล็กน้อยก่อนเดินทางต่อ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกล ยอดเขาหลวงนั้นมีระยะทางประมาณ 3.7 กม. โดยตัดจากระดับความสูง 200 เมตรทะยานฟ้าสู่ 1200 เมตร ซึ่งเมื่อคิดอัตราความชันจะเห็นว่าเราเดินขึ้นในแนวดิ่งประมาณเกือบๆ  300 เมตรต่อ 1 กิโลเมตร โดยมีถานีย่อยๆ หลายสถานี แต่จะแบ่งเป็นช่วงหลัก ๆ 5 ช่วงคือ ประดู่งาม - มออีหก - น้ำดิบผามะหาด - ไทรงาม - ยอดเขาหลวง ซึ่งมีสถานีย่อย ๆ อีกมากมาย

ป้ายสถานีต่างๆ

ถ้ำพระแม่ย่า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://pantip.com/topic/33828693

อุทยานแห่งชาติรามคำแหง

ที่ตั้ง :  ตำบล นาเชิงคีรี อำเภอ คีรีมาศ สุโขทัย 64160

เนื้อที่อุทยานฯ : มีเนื้อที่ประมาณ 213,125 ไร่ หรือ 341 ตารางกิโลเมตร

ระดับความสูงจากน้ำทะเล : อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,200 เมตร

ลักษณะภูมิประเทศ

            พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ที่ตั้งสูงขึ้นไปจากที่ราบคล้ายจอมปลวก ซึ่งแยกตัวจากเทือกเขาอื่นโดยเด่นชัด มีลักษณะเป็นเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ระหว่างจังหวัดกำแพงเพชรและสุโขทัย มีภูเขาที่สูงที่สุดคือ “เขาหลวง” ประกอบด้วยเขานารายณ์ สูง 1,160 เมตร เขาพระเจดีย์ สูง 1,185 เมตร เขาภูคาและเขาพระแม่ย่า สูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายซึ่งไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำยม ประกอบด้วย คลองตาเจ็ก คลองเสาหอ คลองวังเงิน คลองเนินคลี คลองด้วงงาม คลองลานทอง คลองมะซาง และคลองเพชรหึง เป็นต้น

ลักษณะภูมิอากาศ

            บริเวณอุทยานแห่งชาติรามคำแหง จัดอยู่ในภูมิอากาศแบบฝนตกชุกสลับแห้งแล้งในเขตร้อน ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนเมษายนประมาณ 31 องศาเซลเซียส แต่อากาศเย็นในตอนกลางคืน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม มีปริมาณฝนมากในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,323 มิลลิเมตรต่อปี และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวเย็นสบาย โดยเฉพาะบนยอดเขาหลวงอุณหภูมิจะหนาวเย็นในเวลากลางคืน ช่วงที่อากาศเย็นสบายที่สุดระหว่างเดือนธันวาคม – มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27.6 องศาเซลเซียส 

พรรณไม้และสัตว์ป่า

 พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติรามคำแหงปกคลุมไปด้วยป่าเต็งรัง รองลงมาคือ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตามลำดับ

     ป่าเต็งรัง: พบตั้งแต่พื้นที่ระดับต่ำขึ้นไป ตามไหล่เขาและสันเขาที่แห้งแล้ง พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 140-900 เมตร ซึ่งมีดินตื้นและอุดมสมบูรณ์ต่ำ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง เหมือดหลวง มะเกิ้ม ตาลเหลือง แข้งกวาง รักขน สารภีป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ขางครั่ง นมแมว ย่านลิเภา เป้ง ปรง เป็นต้น

     ป่าเบญจพรรณ: ที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ตามร่องห้วยและหุบเขาที่ชื้นปานกลาง แต่แห้งแล้งมากในช่วงฤดูแล้ง โดยพบตามร่องห้วยในบริเวณที่มีป่าเต็งรังอยู่ตามไหล่เขาและสันเขา ตามพื้นที่รอยต่อกับป่าดิบแล้งที่มีสภาพความชุ่มชื้นน้อยลง และพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-800 เมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เปล้าหลวง ตีนนก เครือออน อุโลก ตะแบกเปลือกบาง แดง ตะคร้อ ปอยาบ แคทรายงิ้วป่า เค็ด ไผ่ไร่ ไผ่ซางนวล ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบมากได้แก่ หวายขม กระทือ มะแฮะนก และเขิงแข้งม้า เป็นต้น 

     ป่าดิบแล้ง: พบตามหุบเขาที่ชุ่มชื้นเกือบตลอดทั้งปี จากพื้นล่างขึ้นไปตามภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 150-900 เมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางแดง ปอสลักพาด คำไก่ มะไฟ เลือดควายใบใหญ่ เสลาดำ ดีหมี จิก ไผ่หก ไผ่ไร่ ไผ่เฮียะ ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หวายขม หวายโป่ง หวายนิ้ว เขิงช้าง และว่านนกคุ้ม เป็นต้น สำหรับพื้นที่ระดับสูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตรขึ้นไปเป็น 

     ป่าดิบเขา: ซึ่งกระจายอยู่เป็นหย่อมเล็กๆ ตามยอดเขา และพบทุ่งโล่งที่มีหญ้าปกคลุมสลับกันอยู่ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตองลาด จำปีป่า มันปลา สอยดาว ไคร้ขน หมี่ปัง อบเชย ตองหอม ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ คนางใบหยก เขิงแข้งม้า ก๋ง เป็นต้น 

     สัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติรามคำแหงประกอบด้วย เก้ง หมูป่า ลิงกัง ชะมดเช็ด อีเห็นเครือ ลิ่นใหญ่ ค้างคาวเล็บกุด ค้างคาวขอบหูกลาง กระรอกท้องแดง กระรอกหลากสี กระจ้อน นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง นกแซงแซวหางปลา นกจับแมลงจุกดำ นกปรอดเหลืองหัวจุก นกระจิ๊ดธรรมดา นกกินแมลงอกเหลือง นกตีทอง นกบั้งรอกใหญ่ กิ้งก่าเขาหนามสั้น จิ้งจกหางหนาม จิ้งเหลนหางยาว ตุ๊กแกบ้าน ตะกวด งูลายสาบคอแดง งูเขียวหัวจิ้งจกป่า งูเหลือม อึ่งอ่างบ้าน กบว้าก อึ่งน้ำเต้า และกบหลังไพล เป็นต้น ในบริเวณแหล่งน้ำพบปลาหลากชนิด เช่น ปลาแขยง ปลาซิวควาย ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนน้ำตก ปลาเข็ม และปลากระดี่ เป็นต้น

มีร้านค้าสวัสดิการ ขายของจำพวก ม่ามา ปลากระป๋อง ขนม น้ำอัดลม ราคาเป็นสองเท่าจากราคาปกติ (เพราะต้องจ้างหาบขึ้นมา) แต่ไม่มีอาหารจานเดียวจำหน่าย ร้านเปิดตั้งแต่ 7.30-20.30น. 

อาหาร : ต้องทำเองหรือเตรียมมาเอง ด้านบนไม่มีจำหน่าย 

น้ำ : มีน้ำดื่มจากธรรมชาติ ทุกก๊อกดื่มได้ กินได้ ถ้าไม่มั่นใจแนะนำให้ต้มก่อนกิน 

สถานที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักบริการ จำนวน 3 หลัง พักได้ 6-10 คน ราคา 500 บาท/คืน และมีเต็นท์ให้เช่า ถ้านำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่ 30 บาท/คน/คืน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ตู้ ปณ. 1 อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย 64160 โทร. 0 5591 000-1 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ จะมีเจ้าหน้าที่คอยบริการ ที่ร้านสวัสดิการสอบถามได้

เต้นท์สามารถมาเช่าได้ด้านบนเขาที่ร้านสวัสดิการ

-เต้นท์ 2คน 150 บาท/เต้นท์/คืน

-เต้นท์ 3คน 225 บาท/เต้นท์/คืน

-เต้นท์ ใหญ่ 400 บาท/เต้นท์/คืน

-เต้นท์ ใหญ่ 600 บาท/เต้นท์/คืน

-ถุงนอน 30 บาท/คืน

-เสื่อ 10-20 บาท/คืน

กรณีที่เอาเต้นท์มาเองก็จะเสียค่าใช้พื้นที่ 30 บาท/คน/คืน

ก่อกองไฟ ในพื้นที่ ที่จัดให้เท่านั้น

สถานที่กางเต้นท์ รองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 600 คน

ค่าเข้าอุทยานฯ ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการลูกหาบขึ้นยอดเขาหลวง ราคากิโลกรัมละประมาณ 15 บาท โดยสามารถติดต่อได้ที่อุทยานฯ

เดินทางอย่างไร

โดยรถยนต์

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านนครสวรรค์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงกำแพงเพชร แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 101 จนถึงอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ก่อนถึงจังหวัดสุโขทัย 20 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 414 จะเห็นยอดเขาสูงอยู่ทางซ้ายมือแล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 16 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติรามคำแหง

โดยรถประจำทาง

รถโดยสารประจำทาง จากอำเภอคีรีมาศ นักท่องเที่ยวสามารถเหมารถสองแถวได้ที่บริเวณแยกอำเภอคีรีมาศ ราคาเที่ยวละประมาณ 350-400 บาท เข้าไปยังอุทยานฯ

 -อุทยานฯ ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดเขาหลวงหลัง เวลา 15.30 น.

- นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปค้างแรมด้านบนควรเตรียมอาหารให้เพียงพอ

- ก่อนการเดินทางนักท่องเที่ยวควรสำรวจความพร้อมทางร่างกาย และเตรียมอุปกรณ์สิ่งของจำเป็นไปด้วย เช่น เสื้อกันหนาว หมวก ไฟฉาย ยา และอาหารแห้ง เป็นต้น

ติดต่อ-สอบถาม: อุทยานแห่งชาติรามคำแหง โทรศัพท์ 055-910-000-1

 

แผนที่

บทวิจารณ์

Login For Reviews

แสดงความคิดเห็น

หัวข้อ
อ่านรีวิวโดย
วันที่
Tag
Browse Icon ขนาดภาพ 250 x 250 px