เลื่อนลงล่าง

อุทยานแห่งชาติเขาแหลม

20/05/59

Tag

Count :

Share

         อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ เที่ยวชมธรรมชาติ บริเวณอ่างเก็บน้ำหลังเขื่อนเขาแหลม สามารถชมวิวทิวทัศน์ เล่นน้ำ พายเรือเล่นในอ่างเก็บน้ำ และดื่มด่ำกับความสวยงามของพระอาทิตย์ตก ณ จุดชมวิวป้อมปี่ ที่ถือว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันตก

... ท่านสามารถรับชมวีดีโอเกียวกับอุทยานแห่งชาติเขาแหลมได้ที่นี่ ... 

        

ภาพโดย รักล้นใจ

       จุดชมทิวทัศน์ป้อมปี่ อยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะทั่วไป เป็นพื้นที่อยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ทั้งยังเป็นจุดชมวิวที่สามารถชมความงามของพระอาทิตย์ตกในยามเย็นได้อีกด้วย และมีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยวจำนวน 4 หลัง และจุดกางเต็นท์บนสนามหญ้าอันอ่อนนุ่ม นอกจากนี้ยังจะพบเห็นนกบางชนิด เช่น นกเหงือก นกกระเต็นอกขาว เขียวก้านตองปีกฟ้า ฯลฯ เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ กางเต็นท์พักแรม สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบกิจกรรมทางน้ำ สามารถเล่นน้ำ พายเรือ นั่งเรือชื่นชมความสวยงามของอ่างเก็บน้ำได้ การเดินทางเข้าถึง จาก จังหวัดกาญจนบุรี เดินทางตามถนนหลวงหมายเลข 323 กาญจนบุรี-ทองผาภูมิ-สังขละบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 40 - 41 มีทางแยกเลี้ยวซ้าย มีป้ายบอกหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติป้อมปี่ เข้าไปอีกประมาณ 1.3 กิโลเมตร 

ภาพโดย http://park.dnp.go.th/

        จุดชมทิวทัศน์ห้วยเขย่ง อยู่ด้านขวามือทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3272 สายกาญจนบุรี - ทองผาภูมิ - ปิล๊อก ตรงกิโลเมตรที่ 14 หมู่บ้านร่วมใจ หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ (อยู่เลยอำเภอทองผาภูมิไปประมาณ 14 กิโลเมตร) เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (ห้วยเขย่ง) ทางอุทยานฯ ได้จัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ ห้องน้ำ - ห้องสุขา ร้านค้าสวัสดิการ แพพักสำหรับผู้ที่สนใจ เหมาะแก่การพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติ และชื่นชมความงดงามของอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม)

ภาพโดย http://park.dnp.go.th/

      จุดชมวิวเขาใหญ่ เป็นยอดเขาสูงประมาณ 1,450 เมตร จากระดับน้ำทะเล เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่กางเต็นท์พักแรม เพื่อชมทะเลหมอกยามเช้าที่สวยงาม และทุ่งหญ่าอันกว้างใหญ่และสวยงานยามต้องแสงอาทิตย์ทุ่งหญ้าจะกลายเป็นสีทอง อีกทั้งยังสามารถชมทัศนียภาพของและอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณและชมพระอาทิตย์ตกได้ สถานที่แห่งนี้ห่างจากตัวที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาแหลมประมาณ 10 กิโลเมตร จากถนนสายหลักจะมีทางลาดยางเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร และต้องใช้เส้นทางเดินเท้าเข้าไปอีก 5 กิโลเมตร จัดทำเป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ในรูปแบบการผจญภัย โดยจัดเป็นทริปสั้นๆใช้ระยะเวลาประมาณ 2 วัน 1 คืน

ภาพโดย http://travel.thaiza.com/

       ชมสะพานมอญ สะพานมอญเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศ ยาวประมาณ 850 เมตร ซึ่งสร้างโดยแรงศรัทธาจากชาวมอญ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ในท้องที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ภาพโดย http://park.dnp.go.th/

       ถ้ำเกริงกะเวีย เป็นถ้ำที่อยู่ทางตอนเหนือของบ้านเกริงกะเวีย มีหินงอกหินย้อยและธารน้ำไหลผ่าน ภายในถ้ำสวยงามมาก มีความลึกประมาณ 300-400 เมตร อยู่ห่างจากอำเภอทองผาภูมิ 40 กิโลเมตร

      น้ำตกเกริงกะเวีย อยู่ริมถนนสายทองผาภูมิ-สังขละบุรี กิโลเมตรที่ 32 หมู่ที่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ลักษณะทั่วไป เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูงประมาณ 5 เมตร กระแสน้ำไหลลดหลั่นกันตามหินปูนเป็นชั้นๆผ่านแนวต้นไม้อันร่มรื่นที่ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น มีความสวยงามตามธรรมชาติ เหมาะแก่การเล่นน้ำและพักผ่อน การเดินทางเข้าถึง จาก จ.กาญจนบุรี เดินทางตามถนนหลวงหมายเลข 323 กาญจนบุรี-ทองผาภูมิ-สังขละบุรี อยู่ติดริมถนนสายทองผาภูมิ-สังขละบุรี ห่างจาก อ.ทองผาภูมิ 32 กิโลเมตร ซึ่งน้ำตกเกริงกระเวีย อยู่ทางด้านขวามือ บริเวณใกล้น้ำตกจะมีร้านขายอาหารอยู่ 2-3 ร้านและมีลานจอดรถ ศาลาพัก สำหรับแวะรับประทานอาหารได้ การเดินทางท่องเที่ยวเหมาะสมทุกฤดูกาล 

ภาพโดย http://park.dnp.go.th/

      น้ำตกกระเต็งเจ็ง อยู่หลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เดินเข้าไปยังน้ำตก 4 กิโลเมตร ทางผ่านไปท่ามกลางป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เล็ก เถาวัลย์ ระหว่างทางมีนกป่าให้ดูหลายชนิด น้ำตกกระเต็งเจ็งเป็นน้ำตกขนาดกลางที่มีความยาวของชั้นน้ำตกถึง 23 ชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันไป ระยะทางจากชั้นแรกถึงชั้นสุดท้ายประมาณ 3 กิโลเมตร น้ำตกชั้นสุดท้ายสูงประมาณ 30 เมตร เหมาะกับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติของสภาพป่าชนิดต่างๆ เช่น ป่าไผ่ ผ่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และพืชพื้นล่างจำพวก หวาย ระกำ พืชตระกูลขิงข่า ปกคลุมอย่างหนาแน่น บางช่วงพบดงเฟินเป็นบริเวณกว้าง ระหว่างทางมีนกให้ดูหลายชนิด เช่น นกขุนแผนอกส้ม นกพญาปากกว้างลายเหลือง นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า ฯลฯ บริเวณด้านบนของน้ำตกมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม ในการเดินทางขึ้นเที่ยวชมน้ำตกจะต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อขอเจ้าหน้าที่นำทางทุกครั้งเนื่องจากเส้นทางระยะไกลและค่อนข้างไม่ชัดเจน 

ภาพโดย http://www.tamdoo.com/

      น้ำตกไดช่องถ่อง อยู่ห่างจากน้ำตกเกริงกระเวีย ประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วมีทางเดินต่อไปถึงน้ำตกอีก 500 เมตร ตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ 4 ตำบลปรังเผล อำเภอสัง ขละบุรี เป็นน้ำตกขนาดเล็กสายเดียวกันกับน้ำตกเกริงกระเวีย สูงประมาณ 15 เมตร กระแสน้ำไหลลดหลั่นตามชั้นหินปูนเป็นชั้นๆ ผ่านแนวต้นไม้อันร่มรื่นที่ขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ มีความสวยงามตามธรรมชาติ

ภาพโดย http://travel.thaiza.com/

       น้ำตกทิพุเย อยู่บริเวณสำนักสงฆ์ปฏิบัติธรรมพุทธโธภาวนา หมู่ที่ 3 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จากถนนสายทองผาภูมิ-สังขละบุรี ตรงกิโลเมตรที่ 26 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเดินเท้าอีก 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลางไหลผ่านภูเขาหินปูนที่สวยงาม ในสภาพป่าดิบที่มีต้นไม้หนาแน่นและมีขนาดใหญ่ มีน้ำตก 6 ชั้น น้ำตกชั้นที่สูงที่สุด สูงกว่า 30 เมตร

      น้ำตกผาแตก อยู่บริเวณพื้นที่ป่าบ้านทิพุเย หมู่ 3 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นน้ำตกหินปูนขนาดกลาง ที่สวยงาม มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีจำนวน 4 ชั้น แต่ละชั้นสูงประมาณ 5 - 20 เมตร และเกือบทุกชั้นยังมีแอ่งน้ำสามารถเล่นน้ำได้ น้ำตกผาแตกอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาแหลม โดยจะมีถนนลาดยางเข้าไปถึงหมู่บ้านทิพุเย ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร และเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงตัวน้ำตกผาแตก ซึ่งมีทางชักลากไม้เก่า สามารถพัฒนาให้เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปจนถึงตัวน้ำตกผาแตกได้

     บึงเกริงกะเวีย อยู่ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “บึงเกริงกระเวีย” บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ที่ ปข.1 (เกริงกระเวีย) หมู่ที่ 2 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ เป็นบึงธรรมชาติขนาดเล็ก เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยของนกหลายชนิดและนกอพยพต่างถิ่นในช่วงฤดูหนาว เช่น นกเป็ดแดง นกกวัก นกอีล้ำ นกยาง ฯลฯ ส่วนบริเวณทุ่งหญ้าตามริมขอบบึงก็มีนก เช่น นกกระปูด นกจาบคา ฯลฯ บริเวณบึงได้สร้างหอดูนกไว้ นอกจากนี้หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาแหลมที่ ปข. 1 (เกริงกระเวีย) ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบึงเกริงกระเวีย สามารถเดินเที่ยวชมศึกษาธรรมชาติ ดูนก และบริเวณที่ทำการหน่วยฯ ยังสามารถประกอบกิจกรรม เช่น ดูนก เที่ยวชมน้ำตก กางเต็นท์พักแรมค้างคืนได้

ภาพโดย http://park.dnp.go.th/

      อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นทะเลสาปขนาดใหญ่ซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เดิมชื่อเขื่อนเขาแหลม ทะเลสาป ประกอบด้วยเกาะแก่งต่างๆ เขาหินที่มีหน้าผาสูงชันสวยงาม เหมาะสำหรับนั่งเรือชมภูมิทัศน์เป็นอย่างยิ่ง 

ภาพโดย http://park.dnp.go.th/dnp/ptascene/

    เจดีย์โบอ่อง ที่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านโบอ่อง ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ลักษณะทั่วไป เป็นเจดีย์โบราณแบบพม่า สร้างบนยอดเขาหินปูนที่มีบ่อน้ำล้อมรอบเจดีย์สูง 6 เมตร ฐานกว้างประมาณ 3x3 เมตร บริเวณบ่อน้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ บริเวณวัดมีความร่มรื่น ข้อจำกัด สำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้หญิง จะมีป้ายห้ามไม่ให้ขึ้นไปชมความงามบนยอดเขาหินปูนเนื่องจากเป็นความเชื่อของชาวบ้านว่าจะทำให้บ่อน้ำแห้งขอดและอาจมีภัยอันตรายแก่ตัวเองได้ การเดินทางเข้าถึง จาก จ.กาญจนบุรี เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 3272 กาญจนบุรี-ทองผาภูมิ-ปิล๊อก จนถึงบ้านท่าแพ การเดินทางต่อไปสามารถไปทางเรือได้ทางเดียว ลงเรือที่บ้านท่าแพ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ขึ้นเรือที่บ้านโบอ่อง ฤดูกาลที่เหมาะสมในการเดินทางท่องเที่ยว เหมาะสมทุกฤดูกาล 

 

ภาพโดย http://travel.thaiza.com/

        ชมเมืองบาดาล เป็นเมืองเก่าแก่ สวยงาม ที่จมอยู่ใต้น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ต้องนั้งเรือเขาไปชม

ภาพโดย อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี

 

 

         อุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอสังขละบุรีและอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีสภาพป่าที่สมบูรณ์โดยรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม ประกอบด้วยสัตว์ป่านานาชนิด สถานที่สวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยวศึกษาหาความรู้ และเป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ใน 5 แห่ง ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 มีเนื้อที่ประมาณ 1,497 ตารางกิโลเมตร หรือ 935,625 ไร่

ความเป็นมา :

       กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ภาคละ 1 แห่ง รวม 5 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้เสนอกำหนดพื้นที่บริเวณป่าเหนือเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลม) จังหวัดกาญจนบุรี ต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2529 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติต่อไป

       กองอุทยานแห่งชาติ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กษ 0713/4940 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2529 เสนอกรมป่าไม้ และกรมปาไม้ได้มีคำสั่งที่ 2090/2529 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2529 ให้นายอาคม เวทย์สุภาสุข นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปทำการสำรวจและจัดตั้งพื้นที่บริเวณป่าเหนือเขื่อนเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่งได้มีหนังสือ ที่ กษ 0714 (บป)/188 ลงวันที่ 16 มกราคม 2530 เสนอจัดตั้งบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติเช่นกัน ตามรายงานการสำรวจของนายศรศักดิ์ วิริยะเอกกูล เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 และนายประพันธ์ นิลยาภรณ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 2 สำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่ง ซึ่งอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713(ปข)/3 ลงวันที่ 26 มกราคม 2530 และ ที่ กษ 0713(ปข)/21 ลงวันที่ 28 เมษายน 2530 รายงานผลการสำรวจบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่า ประกอบด้วยส่วนที่เป็นพื้นดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาพระฤาษี ป่าเขาบ่อแร่ และป่าห้วยเขย่ง ป่าเขาช้างเผือก และส่วนที่เป็นพื้นน้ำเหนือเขื่อนเขาแหลม มีลักษณะภูมิประเทศและทิวทัศน์ที่สวยงามเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

      อุทยานแห่งชาติเขาแหลมได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 195 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 67 ของประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศ

         อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาตะนาวศรีที่มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวตามแนวเหนือใต้ มีความสูงประมาณ 100-1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นหินปูน หินทราย และหินดินดาน ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ เขาใหญ่ มีความสูงประมาณ 1,767 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากสภาพที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนก่อให้เกิดลำน้ำที่สำคัญหลายสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อยและอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม ได้แก่ แม่น้ำรันตี ห้วยป้อมปี่ใน แม่น้ำบิคี่ใหญ่ ห้วยองค์พระ ห้วยเกรียงไกร ห้วยปิล๊อก ห้วยประจำไม้ ห้วยลึก ห้วยน้ำซับ ห้วยแก่งคะยือ ห้วยป่าตอง ห้วยซองกะเลีย ห้วยติพิ ห้วยทิม่องทะ ห้วยวังขยาย ห้วยช่องแคบ ห้วยท่ามะเดื่อ ห้วยน้ำมุด ห้วยเกริงกะเวีย เป็นต้น ส่วนที่เป็นพื้นน้ำของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเขาแหลมซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้สร้างขึ้นในปี 2522 และได้กักเก็บน้ำเป็นครั้งแรกในปี 2527 โดยกกเก็บน้ำในระดับปกติ 155 เมตร และสูงสุด 160.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง คิดเป็นพื้นที่ผิวน้ำ ประมาณ 388 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 25.92 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม

ลักษณะภูมิอากาศ

        สภาพภูมิอากาศอยู่ในเขตโซนร้อนที่มีอิทธิพลของลมตะวันออกเฉียงใต้ และลมจากทะเลอันดามัน แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุกในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ปริมาณฝนรายปีเฉลี่ยจะอยู่ในช่วงประมาณ 1,600-2,200 มิลลิเมตร โดยมีปริมาณฝนมากที่สุดในบริเวณด้านเหนือสุดของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 14 องศาเซลเซียส ในเดือนธันวาคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-กลางเดือนพฤษภาคม มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 37-38 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนเมษายน

พรรณไม้และสัตว์ป่า

       สภาพโดยทั่วไปของป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ มีไม้ชนิดต่างๆ ขึ้นอย่างหนาแน่น มีเรือนยอดทึบ บางบริเวณพื้นที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณริมลำห้วยหรือตามร่องห้วย จะมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นเป็นพิเศษ มีสภาพคล้ายป่าดงดิบ พื้นที่ป่าส่วนมากอยู่บริเวณทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ที่พบ ได้แก่ อินทรชิต แคยอดดำ แดง สมอพิเภก สะทิบ กาสามปีก เปล้าใหญ่ ลาย หว้า ลูกดิ่ง พืชพื้นล่างได้แก่ ลูกไม้ของไม้ชั้นบน เต่าร้าง เข็มป่า ชะอม เหมือดโลด เป็นต้น นอกจากพื้นที่ป่าเบญจพรรณแล้ว ยังมีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมซึ่งจะรวมถึงพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำลายเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ดังกล่าวอยู่รอบๆ อ่างเก็บน้ำ ทางตะวันออกของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และบริเวณแนวเขตทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นพื้นที่ที่ถูกราษฎรบุกรุกแผ้วถาง ภายหลังปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้าง มีหญ้า ลูกไม้ต่างๆ และไผ่ขึ้นทดแทน ชนิดไม้ที่พบ เช่น เปล้าใหญ่ หว้า อุโลก คอแลน เป็นต้น

       สัตว์ป่าที่อาศัยร่วมกันในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมมีไม่น้อยกว่า 268 ชนิด พบโดยทั่วไป ได้แก่ เก้ง ชะนีมือขาว อีเห็นธรรมดา นากเล็กเล็บสั้น พญากระรอกดำ กระรอกปลายหางดำ กระจ้อน ค้างคาวขอบหูขาวกลาง ค้างคาวหน้ายาวใหญ่ ค้างคาวเล็บกุด นกจาบดินอกลาย นกกะรางหัวหงอก นกเสือแมลงหัวขาว นกปรอดเหลืองหัวจุก นกปรอดคอลาย นกปรอดดำ นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกหัวขวานเขียวป่าไผ่ นกหัวขวานแคระจุดรูปหัวใจ เหยี่ยวแมลงปอขาแดง นกบั้งรอกแดง นกขุนแผนหัวแดง นกโพระดกคางแดง จิ้งเหลนหลากหลาย จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ กิ้งก่าบินปีกสีส้ม กิ้งก่าหัวแดง กิ้งก่าแก้ว ตุ๊กแกบ้าน งูสามเหลี่ยม งูลายสาบคอแดง เขียดจิก กบอ่อง กบหนอง ปาดจิ๋วลายเลอะ ปาดตีนเหลือง ปาดจิ๋วลายแถบ คางคกบ้าน อึ่งอ่างบ้าน อึ่งข้างดำ อึ่งหลังจุด และอึ่งน้ำเต้า เป็นต้น ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลมและลำธารต่างๆ มีปลาน้ำจืดอาศัยอยู่หลากชนิด เช่น ปลาสลาด ปลาแปบขาว ปลาซิวหางกรรไกร ปลาสร้อยขาว ปลาไส้ตันตาแดง ปลากระทุงเหว ปลาชะโด ปลาตะเพียนสมพงษ์ ปลาจิ้งจอก ปลาค้อ ปลาอาด ปลาแขยงหิน และปลากด เป็นต้น

บริการอาหาร    มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณป้อมปี่ สำหรับบริเวณเกริงกระเวียต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน

ร้านขายเครื่องดื่ม    มีมุมกาแฟ สำหรับดื่มกาแฟและชมทิวทัศน์ที่สวยงามของอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ

สิ่งอำนวยความสะดวก 

         อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เป็นอุทยานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกคอยให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างครบครันไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำ-ห้องสุขาชาย  ห้องน้ำ-ห้องสุขาหญิง ที่พักแรม/บ้านพัก  ลานกางเต็นท์  ที่จอดรถ บริการอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม    และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว    

 

 

รถยนต์
       จากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที เดินทางออกจากกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางถนนเพชรเกษมหรือถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ผ่านจังหวัดนครปฐม - บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จนถึงอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเริ่มเดินทางต่อสู่อำเภอทองผาภูมิ ตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 323 จากอำเภอทองผาภูมิ แยกขวาขึ้นสู่ตัวอำเภอสังขละบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 39 - 40 จะเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาแหลม

รถไฟ
      การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดขบวนรถไฟเดินทางจากสถานีรถไฟบางกอกน้อย วันละ 2 เที่ยว เที่ยวแรกเวลา 07.45 น. เที่ยวที่สองเวลา 13.45 น. แวะจอดที่สถานีรถไฟจังหวัดกาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว ท่ากิเลน สุดท้ายที่สถานีน้ำตก (บริเวณน้ำตกไทรโยคน้อย) อัตราค่าโดยสารคนละ 39 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2411-3102 จากนั้นเดินทางต่อโดยใช้รถประจำทางสีส้ม

ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดนำเที่ยวไปกลับในวันเดียว อัตราค่าบริการตู้แอร์คนละ 200.- บาท พัดลมคนละ 100.- บาท รถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง เวลา 06.30 น. และเดินทางกลับเวลา 14.00 น. รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.0 - 2223 - 7010 , 0 - 2225 - 6964 หรือ 0 - 3456 - 1052

รถโดยสารประจำทาง
      เส้นทางกรุงเทพฯ - กาญจนบุรี เดินทางโดยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ชั้นหนึ่ง (ปอ.1) ของบริษัทกาญจนบุรีทัวร์ รถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ทุกๆ 15 นาที ตั้งแต่เวลา 05.00-22.30 น. อัตราค่าโดยสารคนละ 79.- บาท หรือรถปรับอากาศชั้นสอง (ปอ.2) ออกทุกๆ 20 นาที ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสายใต้ใหม่ โทร. 0-2435-1199, 0-2884-6249 สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1552

เส้นทางกาญจนบุรี - ทองผาภูมิ - สังขละบุรี เดินทางโดยรถตู้ปรับอากาศ (11 ที่นั่ง) ของบริษัทเอเชียไทรโยค จำกัด เปิดให้บริการวันละ 6 เที่ยว โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 07.30 น.,10.30 น.,11.30 น.,12.30 น.,14.30 น.และ 16.30 น. อัตราค่าโดยสารคนละ 118 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง

อุทยานแห่งชาติเขาแหลม
ตู้ ปณ.15 ปท.ทองผาภูมิ อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี  71180
โทรศัพท์ : 0 3454 6819,0 3453 2099 ,08 6131 3443 (ป้อมปี่)   โทรสาร : 0 3453 2099
ผู้บริหาร : เทวินทร์ มีทรัพย์   ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส

แผนที่

บทวิจารณ์

Login For Reviews

แสดงความคิดเห็น

หัวข้อ
อ่านรีวิวโดย
วันที่
Tag
Browse Icon ขนาดภาพ 250 x 250 px

Tag

Count :