สวนของพี่จงหรือนายผ่านศึก วิเศษวงษา อยู่บ้านเลขที่ 163 หมู่ที่ 1 บ้านชุมทหาร ตำบลห้วยคต อำเภอห้วยคต ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ร่วมโครงการทฤษฏีใหม่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้น้อมนำเอาศาสตร์ของพระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ บนเนื้อที่ 22 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกยาง 17 ไร่ สัปปะรด 1 ไร่ มันสำปะหลัง 2 ไร่ ที่เหลือขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อเอาไว้ใช้ในพืชผลการเกษตรในยามขาดแคลน พร้อมกับเลี้ยงปลากินพืชควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้มีแหล่งอาหารบริโภคในครัวเรือนเหลือขายและแบ่งปันเพื่อนบ้าน ในช่วงฤดูแล้งของทุกปีตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเมษายน จะมี “ผึ้งมิ้ม” ที่อาศัยอยู่ในป่าผืนใหญ่ทางตอนบน อพยพหนีความแห้งแล้งลงมาสู่พื้นที่ราบลุ่ม เพื่อหาแหล่งน้ำในธรรมชาติ รวมทั้งเกสรดอกไม้จากแปลงเกษตรที่ชาวบ้านปลูก ไม่ว่าจะเป็น เกสรจากต้นปาร์ม เกสรจากต้นยางพารา เกสรจากต้นข้าวโพด เกสรจากพืชผัก เกสรจากดอกไม้ป่าต่าง ๆ และเกสรจากดอกไม้ที่ชาวบ้านปลูก เพื่อที่ “ผึ้งมิ้ม” จะใช้ในการสร้างน้ำหวานและสร้างประชากรให้เพิ่มขึ้น โดย “ผึ้งมิ้ม” ที่อพยพมาจะเกาะสร้างรังใหม่ตามต้นไม้ ได้แก่ กอไผ่ ต้นยางพารา มะขาม มะกรูด ภายในพื้นที่ของตนเองทั้ง 22 ไร่ ขณะนี้มีจำนวน 60 รัง และปริมาณจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 100 รัง ภายในเดือนเดือนมีนาคม โดย “ผึ้งมิ้ม” ที่มาเกาะสร้างรังใหม่ จะบินหาเกสรดอกไม้ป่าและเกสรจากแปลงเกษตรของชาวบ้าน เพื่อสะสมน้ำหวานเอาไว้ที่หัวคอนจนเต็ม ใช้เวลาเพียง 15 วันเท่านั้น สามารถทำการตีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตีผึ้ง” วิธีการก็คือ จะใช้ควันพ่นเข้าไปในท่อ เพื่อพ่นไปยังรังของ “ผึ้งมิ้ม” ให้แสดงอาการเมาควัน จากนั้นจึงใช้กรรไกรตัดยกรังออกมา เพื่อกรีดเอาเฉพาะน้ำหวานตรงหัวคอนออกใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ เพื่อที่จะนำไปคั้นและบรรจุขวดขาย ส่วนตัว “ผึ้งมิ้ม” ให้ใช้มีดปาดทิ้งเอาไว้ในจุดที่ทำการตี เพื่อที่จะได้สร้างรังใหม่ขึ้นมาในบริเวณใกล้เคียง สามารถเก็บน้ำหวานได้อีกภายใน 15 วัน ส่วนรังของ “ผึ้งมิ้ม” ที่ตีเก็บน้ำหวานไปแล้ว แต่ยังมีตัวของ”ผึ้งมิ้ม” อยู่ก็จะนำเอาไปแขวนผูกไว้บนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง อีก 15 วันก็จะสามารถเก็บน้ำหวานได้อีก ทำให้มีรายได้จากการขาย “น้ำผึ้ง” บรรจุขวดขาย ปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท ถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ดีให้กับตน รวมทั้งชาวบ้านแถบนี้ ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนรังของ “ผึ้งมิ้ม” จากเดิมที่มีอยู่แม้จะเก็บน้ำหวานไปแล้ว แต่ก็มีวิธีการด้วยการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านจากการสังเกตและเรียนรู้ชีวิตของ “ผึ้งมิ้ม” เพิ่มจำนวนรังได้อีกเท่าเลยทีเดียว โดยในช่วงแล้งมิ้มจะไม่อพยพไปไหน จะอยู่กับเราไปจนถึงเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นพอเดือนมิถุนายน บางรังจะเริ่มอพยพบินเข้าป่าแหล่งอาศัยเดิม ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกลงมา ป่าเริ่มฟื้นตัวและมีความอุดมสมบูรณ์ จะเป็นในลักษณะนี้ ติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

ระบบนิเวศ

    มีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น อากาศจะเย็นสบายมากในช่วงฤดูฝน ภายในสวนประกอบไปด้วยพืชผลทางการเกษตรมากมาย เช่น ต้นยาง สัปปะรด มันสัมปะหลัง พืชผักสวนครัว เป็นต้น ช่วงหน้าฝนยังมีเห็ดขึ้นในพื้นที่อีกด้วย

ข้อควรปฎิบัติ

    กรุณารักษาความสะอาดและทำตามกฎระเบียบของสวนอย่างเคร่งครัดเนื่องจากในสวนมีการเลี้ยงผึ้งมิ้มอาจจะเป็นอันตรายแก่ผู้เข้าชมได้


E-BOOK

PDF



จำนวนผู้เข้าชม 7148 คน
©2021 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD) All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th